ศึกษาโอกาสธุรกิจในจีน (ภาคบริการ)
    
      ศึกษาโอกาสธุรกิจในจีน (ภาคบริการ)
    ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนดำเนินกลยุทธ์กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย การให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเป็นหลัก โดยเล็งเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ได้โดยตรงและเห็นผลที่ชัดเจน (ตัวเลขการเติบโต) ประกอบกำลังการบริโภคในประเทศในอดีตยังไม่สูงนัก จึงทำให้ภาคบริการไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร

แต่ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป “ภาคบริการ” ได้กลายมาเป็นสาขาที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยในมุมมองของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเห็นว่า “แม้ภาคอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญมาก แต่ภาคบริการก็ไม่อาจมองข้ามได้”  โดยภาคบริการเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยกระตุ้นการจ้างงานและสร้างรายได้ในจีนได้อย่างมาก ประกอบกับชาวจีนมีกำลังซื้อและความต้องการในการใช้บริการต่างๆ สูงขึ้นกว่าในอดีต รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดให้การพัฒนาภาคบริการเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของจีน เพื่อส่งเสริมการบริโภคและพัฒนาตลาดภายในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอย่างมั่นคง มากกว่าที่จะพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลักอย่างในอดีตที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เป็นหลัก

ความสำคัญที่รัฐบาลจีนให้กับภาคบริการได้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ปี ค.ศ. 2011 – 2015) ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าหมายกระตุ้นให้มูลค่าของภาคบริการเพิ่มขึ้น โดยครองสัดส่วนร้อยละ 47 ของ GDP ทั้งหมดในประเทศ และตั้งเป้าหมายระยะยาวในอนาคตข้างหน้า (ประมาณปี ค.ศ. 2050) ที่สัดส่วนร้อยละ 65 ของ GDP ทั้งหมดในประเทศ และการที่จะทำให้ภาคบริการเติบโตขึ้นนั้น ก็จำเป็นจะต้องเปิดกว้างในนโยบายบริหารจัดการ พร้อมกับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาบริการที่จีนต้องการจากต่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน ธุรกิจบริการของจีนมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองชั้นนำที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในชั้นแนวหน้าของจีน อย่างเช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลกวางตุ้ง เป็นต้น ในขณะที่เมืองอื่นๆ ต่างก็เริ่มพัฒนาภาคบริการของตนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง ตลอดจนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จีนจึงต้องการที่จะดึงดูดและเรียนรู้จากต่างชาติ ในสาขาภาคบริการสมัยใหม่ที่จีนยังมีไม่มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมกับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี วิทยาการ และประสบการณ์ อาทิ โลจิสติกส์สมัยใหม่ บริการทางการเงิน ธุรกิจประกันภัย บริการเพื่อสุขภาพและการแพทย์ บริการกฎหมาย การบริหารจัดการธุรกิจ บริการด้านการประเมินสถานการณ์การลงทุน บริการคำปรึกษาทางวิศวกรรม/การออกแบบ และบริการลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น และนโยบายของรัฐบาลเพื่อดึงดูดสาขาภาคบริการดังกล่าวก็ออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ  

แล้วประเทศไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่จีนส่งเสริมและพัฒนาภาคบริการได้อย่างไร หรือจะเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากความต้องการใช้บริการในด้านต่างๆ ของชาวจีนที่นับวันจะมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร ธุรกิจไทยคงต้องวิเคราะห์ว่าภาคบริการสาขาใดของไทยมีศักยภาพโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ หรือความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ที่จะสามารถนำมาเป็นจุดขายและแข่งขันได้ในจีน โดยอาจไม่เพียงแต่มองการ “เข้าไป” ทำธุรกิจภาคบริการในจีนเท่านั้น แต่ยังสามารถมองโอกาสของการดึงดูดให้ชาวจีน “ออกมา” ใช้บริการที่โดดเด่นต่างๆ ของไทยในประเทศไทยด้วย

แน่นอนว่า จีนเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับภาคบริการไทย แต่ตลาดที่หอมหวนก็เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งกับธุรกิจจีนเองและกับธุรกิจต่างชาติ การเข้าไปทำธุรกิจในจีนหรือดึงดูดผู้บริโภคจีนมายังไทยจึงจำเป็นต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจอย่างดี การศึกษานโยบายส่งเสริมการลงทุนและข้อจำกัดต่างๆ ของทางการจีน การติดตามทิศทางการพัฒนาของตลาดบริการของจีน และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน ตลอดจนจะต้องมีการสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจบริการไทยในตลาดจีนสามารถแข่งขันและดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน


: ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน
บทความ
น่าสนใจ

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
   664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
    โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
    Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th