ศึกษาโอกาสธุรกิจในจีน (ภาคอุตสาหกรรม)
    
ศึกษาโอกาสธุรกิจในจีน (ภาคอุตสาหกรรม)
1. ภาพรวมอุตสาหกรรมจีน
    อุตสาหกรรมของจีนเริ่มได้รับการฟื้นฟูและมีการพัฒนาอย่างจริงจังในทุกๆ ด้านนับตั้งแต่จีนได้สถาปนาขึ้นเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี ค.ศ.1949 ต่อมาในปี ค.ศ. 1978 จีนได้สร้างระบบของอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการปฎิรูปและเปิดประเทศในปี ค.ศ.1979 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านของโลก
    ในช่วง 30 กว่าปีมานี้ อุตสาหกรรมของจีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีสินค้าภาคอุตสาหกรรมของจีนหลายชนิดได้ถูกจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้า ถ่านหิน ปูนซีเมนต์และปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะโทรทัศน์ ที่มีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1996
    เนื่องจากความได้เปรียบด้านจำนวนประชากรที่มากมาย ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีราคาถูกและมีตัวเลือกด้านบุคคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบและทรัพยากรอย่างเพียงพอภายในประเทศ ตลอดจนรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชากรขนานใหญ่ในด้านการดำเนินชีวิต ซึ่งจากปัจจัยทั้งหลายข้างต้น ทำให้จีนได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมกลายเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมการผลิต ในปัจจุบันแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับสองของโลก ทรงอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวภาคอุตสาหกรรมโลก
    ปัจจุบัน จีนยังคงเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ โดยการผลิตดาวเทียมและยานอวกาศด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยส่งขึ้นไปปฎิบัติภารกิจในอวกาศ เพื่อปูทางโครงการเจ้าแห่งอวกาศภายในปี 2563 ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากจากทั่วโลก และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในความสำเร็จที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011- 2015) จีนจะมุ่งมั่นดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 7 สาขา ได้แก่
    การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
    เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่    
    เทคโนโลยีชีวภาพ
    การผลิตเครื่องจักรชั้นสูง
    พลังงานใหม่
    วัสดุใหม่
    ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานใหม่
        ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทอันโดดเด่นและเป็นตัวแปรสำคัญ ในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนอย่างเต็มตัวในอนาคต

2. ประเภทอุตสาหกรรมของจีน
ประเภทอุตสาหกรรมหลักของจีนแบ่งออกได้เป็น (1) อุตสาหกรรมหนัก และ (2) อุตสาหกรรมเบา โดยอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญได้แก่ ด้านพลังงาน การแปรรูปก๊าซธรรมชาติ การผลิตเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องโลหะและการทำเหมืองแร่ เป็นต้น ด้านอุตสาหกรรมเบาที่มีชื่อเสียงได้แก่ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษ รองเท้า อาหาร และสิ่งทอ เป็นต้น
    ในปี 2555 อุตสาหกรรมของจีนมีการเติบโตอย่างมั่นคง บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (ที่มีรายได้ 20 ล้านหยวนต่อปีขึ้นไป) ขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภาคอุตสาหกรรมหนักเติบโต 9.9% และอุตสาหกรรมเบาเติบโต 10.1% ในส่วนของภูมิภาค แบ่งเป็นภาคตะวันออกมีการขยายตัวที่ 8.8% ภาคกลางขยายตัว 11.3% และภาคตะวันตกขยายตัวที่ 12.6%

3. เขตอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของจีน
    3.1 เขตอุตสาหกรรมหนักเหลียวหนิง
    เขตอุตสาหกรรมหนักเหลียวหนิง เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของจีน มีจุดศูนย์กลางที่เมืองต้าเหลียนและนครเสิ่นหยางเมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิง โดยอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เหล็กกล้า พลังงานและปิโตรเคมี เป็นต้น
    เขตอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญของจีน มีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและองค์ประกอบการผลิตที่ครบวงจร อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและวัตถุดิบด้านพลังงาน อีกทั้งมีเส้นทางการขนส่งที่สะดวก ซึ่งผลผลิตของอุตสาหกรรมมีตลาดการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
    รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าวในอนาคต ได้แก่ (1) กระตุ้นศักยภาพของการเป็นฐานอุตสาหกรรมหนักที่เเข็งแกร่งออกมาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมในระดับสากล (3) แสวงหาวิธีการลดมลพิษที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สวยงามให้คงอยู่
    3.2 เขตอุตสาหกรรมปักกิ่ง-เทียนจิน
    เขตอุตสาหกรรมปักกิ่ง-เทียนจิน เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงปักกิ่งและนครเทียนจินซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมดร้อยละ 90 และอีกร้อยละ 10 อยู่ในเมืองถังซานซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของมณฑลเหอเป่ย โดยอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ การผลิตเครื่องจักร เหล็กกล้า เคมี สิ่งทอ เครื่องปั้นดินเผา และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
    เขตอุตสาหกรรมปักกิ่ง-เทียนจิน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเบาได้รับการยกย่องอย่างมากในด้านของเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ทันสมัย นอกจากนี้ เขตอุตสาหกรรมปักกิ่ง-เทียนจิน ยังมีข้อได้เปรียบในด้านเส้นทางการขนส่งที่สะดวกเป็นอย่างมากเนื่องจากมีที่ตั้งติดกับท่าเรือขนส่งสินค้าเทียนจิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนี้
รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าวในอนาคต ได้แก่
ผลักดันการนำเข้าเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อผสมผสานให้เกิดนวัตกรรมทางการผลิตให้กลายเป็นลักษณะเฉพาะของเขตอุตสาหกรรมฯ
เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์
3.3 เขตอุตสาหกรรมสามเหลี่ยมทองคำ
    เขตอุตสาหกรรมสามเหลี่ยมทองคำ เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ นครหังโจวและเมืองหนิงโป โดยอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ การผลิตเครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
    เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้ นับว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ครบวงจรและสมบูรณ์แบบที่สุดของจีน เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ทรัพยากรและวัตถุดิบที่เพียงพอ อีกทั้งมีการนำเข้าเทคโนโลยีจากนอกประเทศเข้ามาประยุกต์ในกระบวนการผลิตอย่างสมบูรณ์แบบ ตลอดจนมีท่าเรือใหญ่ช่วยสนับสนุนในด้านการขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ การส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ
รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าวในอนาคต ได้แก่
มุ่งเน้นให้วิสาหกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมฯ ให้มากขึ้นเพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและความเป็นสากล
ส่งเสริมให้มีการคิดค้นนวัตกรรมด้านสินค้าใหม่ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับเขตอุตสาหกรรมฯ
แสวงหาลู่ทางการเข้านำสินค้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมโลกอย่างจริงจัง
3.4 เขตอุตสาหกรรมปากแม่น้ำจูเจียง
เขตอุตสาหกรรมปากแม่น้ำจูเจียง เป็นเขตอุตสาหกรรมรวมขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของจีนโดยจะเน้นด้านอุตสาหกรรมเบาเป็นหลัก มีศูนย์กลางอยู่ที่นครกวางโจว นครเซินเจิ้นและเมืองจูไห่ อุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารและของเล่น เป็นต้น
    เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง วิสาหกิจชั้นนำจากทั้งในและนอกประเทศต่างเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้ากันอย่างเนืองแน่น อีกทั้งเพียบพร้อมด้วยเส้นทาง การขนส่งที่สะดวก มีท่าเรือใหญ่รองรับการนำเข้าส่งออกสินค้า มีศักยภาพที่เพียงพออย่างยิ่งต่อ การพัฒนาในอนาคต
    รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าวในอนาคต ได้แก่
กระตุ้นวิสาหกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น
ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นับวันยิ่งเพิ่มความพิถีพิถันมากขึ้น
ส่งเสริมกลยุทธ์ภาค การนำเข้าส่งออก พัฒนาด้านขนส่งโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และความสะดวกต่อการระบายสินค้า

: ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน
บทความ
น่าสนใจ

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
   664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
    โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
    Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th