ศึกษาโอกาสสินค้าเกษตรไทยในจีน
    
         ศึกษาโอกาสสินค้าเกษตรไทยในจีน
        ปัจจุบันรูปแบบการบริโภคของชาวจีนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมืองสำคัญระดับชาติสู่เมืองสำคัญระดับมณฑล เดิมตลาดผู้บริโภคอาหารที่นำเข้าส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญระดับชาติ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือมณฑลอยู่ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศ แต่ปัจจุบัน ในมณฑลตอนในและหัวเมืองชั้นรองต่างมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการพัฒนาความเป็นเมือง รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายกระจายอยู่ตามหัวเมืองชั้นรอง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคอาหาร จากการรับประทานเพื่อ “อิ่มท้อง” ในอดีต เป็นการบริโภคที่เน้นรสชาติและคุณภาพของอาหารมากขึ้น        ตลาดสินค้าเกษตรหลายชนิดที่นำเข้าจากไทย เช่น ผลไม้ จึงได้ขยายไปสู่เมืองชั้นรองและพื้นที่ตอนในของจีนมากยิ่งขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคในเมืองดังกล่าวมีโอกาสรับรู้สินค้าใหม่ๆ และมีความต้องการบริโภคสินค้าที่นำเข้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองสำคัญระดับมณฑลไม่ค่อยได้รู้จักสินค้าต่างประเทศและร้านที่จำหน่ายมีไม่มากนัก จึงคาดการณ์ว่า         การขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยที่นำเข้าไปสู่เมืองสำคัญระดับมณฑลจะเป็นแนวโน้มของตลาดต่อไป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของ สินึค้าเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ไทยหลากหลายชนิด หรือข้าวหอมมะลิที่จะมีโอกาสได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้บริโภคชาวจีน
        ตามสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO) จีนเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขณะที่ไทยตามมาในอันดับสอง เห็นได้ว่าทั้งสองประเทศมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ทั้งระบบการผลิตดั้งเดิม ระดับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลาดการส่งออก และโครงสร้างตลาด เหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน สินค้าเกษตรไทยในจีนมีมีโอกาสเป็นอย่างไร ล้วนเป็นประเด็นคำถามที่น่าติดตาม สินค้าเกษตรไทยและจีนบางชนิดมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทผลไม้สด สำหรับไทยแล้ว สินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่ไทยต้องพึ่งพาเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าที่ต้องใช้แรงงานการผลิตเข้มข้น จีนกับไทยต่างคาดหวังว่าจะครอบครองตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ และต่างก็มีตลาดการส่งออกกระจุกตัวในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว
        อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาความเป็นไปของการแข่งขันทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย-จีนสองประเทศ พบว่าเป็นไปในลักษณะทวิภาคี โดยมีแนวโน้มว่า จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยสูงขึ้น จีนกำลังพึ่งพาไทยมากขึ้นและเริ่มลดความได้เปรียบต่อไทยลงในสินค้าชนิดนี้ ตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศ จีนเป็นฝ่ายเสียดุลเพิ่มขึ้น สาเหตุเป็นเพราะจีนกำลังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
        ดังนั้นไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และมีศักยภาพในการผลิตพืชและผลไม้เมืองร้อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่จีนในฐานะแหล่งผลิตของสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ผลไม้ไทย น้ำมันปาล์ม ยางพารา ไม้ท่อน ไม้แปรรูป เป็นต้น จีนไม่มีข้อได้เปรียบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ ไทยจึงกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตร อันเป็นผลจากความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีน
•    ทำไมต้องผลไม้ไทย?
        ความแตกต่างทางสภาพดิน ฟ้า อากาศระหว่างไทยและจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันในสองประเทศ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ภายใต้อิทธิพลมรสุมสองชนิดคือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ไทยมีพื้นที่ราบภาคกลางที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเขตร้อน สภาพดินฟ้าอากาศเป็นมรสุมชัดเจน
ส่วนประเทศจีนนั้น มีสี่ฤดูกาลชัดเจน อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างภาคใต้และภาคเหนือ ภาคใต้ร้อน ภาคเหนือหนาว ฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักมีฝนตกชุกอากาศร้อน บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือแบ่งได้เป็นเขตชื้นที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน พืชสวนที่สามารถปลูกได้ในแต่ละบริเวณจึงแตกต่างกันไป
สำหรับผลไม้ จีนมีการเพาะปลูกผลไม้แทบทุกภาค ผลผลิตที่มีชื่อ เช่น สาลี่หอม แคนตาลูปของเขตปกครองตนเองซินเจียง แอ๊ปเปิ้ลของเมืองเยียนไถ มณฑลซานตง องุ่นของมณฑลซานซี ส้มของมณฑลเสฉวนและเจียงซี ลิ้นจี่ของมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง สตรอเบอรี่ ลำไย ส้มโอของเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง โดยในแต่ละปี จีนมีปริมาณผลผลิตผลไม้ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 60 ล้านตัน พื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิตผลไม้สูงที่สุดคือ มณฑลซานตง รองลงมาคือ มณฑลเหอเป่ย
ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายการเปิดตลาดในปี 2521 ทำให้การผลิตผลไม้ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการปลูกผลไม้มีมากคิดเป็นอันดับสามของการเพาะปลูกทั้งหมด จีนมีการผลิตแอปเปิ้ลและลูกแพร์มากที่สุดในโลก และมีการปลูกผลไม้ตระกูลส้มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จีนจึงเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคผลไม้มากที่สุดในโลก แต่ขณะที่ปริมาณการผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความต้องการของผู้บริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางภาคใต้ของจีนในบางพื้นที่ เช่น มณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน หรือเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง จะสามารถเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ แต่กระนั้นด้วยอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ไม่ร้อนตลอดทั้งปี ส่งผลให้รสชาติและคุณภาพของผลไม้ที่เพาะปลูกได้ในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งปริมาณความสามารถในการผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งประเทศด้วยจีนจึงยังมีความต้องการผลไม้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีเห็นได้ว่า ข้อได้เปรียบของไทยต่อจีนด้านการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ เหมาะสมกับการการเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ตลอดทั้งปี ไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จีนไม่สามารถผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้เขตร้อน ยางธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง เป็นต้น สภาพดินฟ้าอากาศจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้จีนต้องนำเข้าจากไทย ดังนั้น “จีน” จึงถือเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกของสินค้าเกษตรไทยได้อย่างดี โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน

•    จีน -- ผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่จากไทย
ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยผลไม้สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และผลไม้ไทยยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคผลไม้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและความสนใจในสุขภาพก็มีมากขึ้นด้วย ในการผลิตผลไม้ถือได้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตผลไม้เมืองร้อนหลากหลายชนิด ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ส่วนฤดูกาลให้ผลผลิตผลไม้แต่ละชนิดก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพพื้นที่ของแต่ละภาค จึงเป็นข้อดีประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยมีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี
แหล่งนำเข้าผลไม้ไทยที่สำคัญของจีนอยู่ในเขตมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดขายส่งผลไม้หนานไห่ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยผู้นำเข้าผลไม้ของจีนจะมีตัวแทนรับซื้อร่วมทุนกับฝ่ายไทยในการรวบรวมผลไม้ไทยก่อนส่งมายังจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งผ่านทางฮ่องกง
ในปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยที่สำคัญที่สุด จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2553 - 2556 (7 เดือนแรก) ประเทศจีนครองความเป็นอันดับหนึ่งด้านการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยตลอดมา ขณะที่รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2556 ไทยมียอดการส่งออกผลไม้สดไปจีนคิดเป็นมูลค่า 6,661.68 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกัน (7 เดือนแรก)เมื่อเทียบกับปี 2555 อยู่ร้อยละ 17 ส่วนยอดการส่งออกผลไม้สดมาจีนตลอดปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 9,224.22 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 49.07 จะเห็นว่าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปยังจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี และยังขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ
สำหรับในเรื่องสัดส่วนการนำเข้า การนำเข้าผลไม้สดจากไทยของประเทศจีนเมื่อเทียบกับผู้นำเข้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 37.27, 36.38, และ 42.66 ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของเกาะฮ่องกงคิดเป็นร้อยละ 22.41, 25.28 และ 17.49 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าเมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าผลไม้สดจากจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกงเข้าไว้ด้วยกันแล้ว มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 60 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ซึ่งตลาดผู้บริโภคทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงต่างถือได้ว่าเป็นชาวจีนซึ่งนิยมการบริโภคผลไม้สดจากเมืองร้อนและเป็นตลาดของผลไม้สดที่สำคัญของไทยซึ่งจากยอดการส่งออกผลไม้สดของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าวที่ขยายตัวต่อเนื่องทุกปีด้วยอัตราการขยายตัวแบบตัวเลขสองหลัก จึงสะท้อนให้เห็นว่าตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ผู้บริโภคจีนในปัจจุบันได้ติดใจในรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทย และพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลไม้ไทยมาบริโภค โดยเฉพาะ ชาวจีนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางรวมถึงเศรษฐีใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้านการบริโภคเมื่อคนจีนมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นและความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น คนจีนจึงต้องการเลือกซื้อผลไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้น จากรายงานตัวเลขค่าใช้จ่ายการบริโภคผักและผลไม้ประจำปี 2555 ระบุว่าคนจีนที่อยู่ในเมืองใช้เงินโดยเฉลี่ยคนละ 506.30 หยวน และ 591.97 หยวน ในการซื้อผลไม้แห้งและผักผลไม้สดรับประทาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.73 และ 12.26 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ตามลำดับ ในที่นี้ ชาวกรุงปักกิ่ง ใช้เงินโดยเฉลี่ยซื้อผลไม้สดรับประทานมากที่สุด คือ 772.88 หยวน
ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย จำนวน 22 ชนิด สำหรับผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้ แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน ส้มโอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม และน้อยหน่า นอกจากนั้นยังมีผลไม้แปรรูปหลายชนิดกำลังเป็นที่นิยมด้วย อาทิ ลำไยอบแห้ง ทุเรียนทอดกรอบ กล้วยอบกรอบ ขนุนและสับปะรดอบกรอบ เป็นต้น
ดังนั้น นักธุรกิจไทยยังคงต้องจับตา ตลาดส่งออกผลไม้ของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือ “โอกาส”สำคัญที่ไทยถือได้ว่ามีศักยภาพเหนือประเทศคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

•    ข้อควรรู้ก่อนเจาะตลาดสินค้าเกษตรจีน
1. ศึกษาลักษณะเฉพาะของมณฑล
เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ (ประมาณ 9.60 ล้านตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งออกเป็นหลายมณฑล โดยแต่ละมณฑลก็มีขนาดใหญ่และมีจำนวนประชากรจำนวนมาก มีความแตกต่างของระดับรายได้ กำลังซื้อ รสนิยม พฤติกรรมการบริโภค รูปแบบการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ดังนั้น ตลาดจีนในแต่ละภูมิภาคจึงมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย อาทิ ผักและผลไม้ ทางภาคใต้ของจีนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับไทย และมีบางส่วนไม่ว่าจะเป็น มะม่วง ชมพู่ ฝรั่ง ได้มีการนำเข้าโดยปราศจากภาษีนำเข้าจากไต้หวันอยู่แล้ว ผลไม้ไทยที่จะเจาะตลาดบริเวณนี้ได้จึงต้องเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพสูงเหนือกว่าผลไม้ที่ผลิตได้ในท้องถิ่น อาทิ มังคุด ทุเรียน
นักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดจีนเพื่อแสวงหาโอกาสและช่องทางการค้าจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม ลักษณะสำคัญ เช่น สินค้าใดที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค การเจาะตลาดโดยการแบ่งกลุ่มตามความต้องการเป็นระดับต่าง ๆ ตามระดับรายได้ ตลอดจนปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้าของจีนในระดับมณฑลด้วย
2. ระบบการกระจายสินค้า
นอกจากอุปสรรคด้านการนำเข้าแล้ว การกระจายสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดภายในของจีนยังคงมีปัญหาเรื่องกระจายสินค้า โดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศจีนที่ยังคงควบคุมโดยรัฐไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งระบบค้าปลีกและค้าส่ง
ปัจจุบันพบว่าแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าของไทย ปัจจุบันยังขาดผู้ขายส่งสินค้า (Distributors) ของไทยในตลาดจีน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าที่นำเข้าจากไทยและกระจายสินค้าของไทยไปยังตลาดในมณฑลต่าง ๆ ในจีน ดังนั้น ในการส่งสินค้าเกษตรไทยเพื่อไปวางจำหน่าย นอกจากจะกระจายไปยังตลาดค้าผลไม้โดยตรงแล้ว นักธุรกิจไทยยังต้องเลือกช่องทางขนส่งหรือกระจายสินค้าที่เหมาะสมกับลักษณะของสินค้าที่จะส่งไปขายในจีน รวมทั้งต้องชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้านั้นอยู่ที่มณฑลไหน เมืองใด และจะเลือกซื้อสินค้าผ่านข่องทางใด
3. กฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับมณฑล
ในปัจจุบัน แม้ไทยและจีนได้มีความพยายามเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกันมากขึ้นเพื่อลดกำแพงภาษีและขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยปัจจุบันได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่งผลให้การหลั่งไหลเข้ามาของกองทัพสินค้าราคาถูกจากประเทศต้นกำเนิดที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ในการผลิตเหนือสินค้าของจีนมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณมาก ซึ่งจีนจำเป็นต้องรีบหาทางปกป้องโดยด่วน แต่ในเมื่อระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ปิดโอกาสการใช้มาตรการทางภาษีในการกีดกันสินค้าจากภายนอก ดังนั้นจีนจึงหันมาใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพื่อปกป้องภาคการผลิตภายในประเทศบางประเภทเพื่อปกป้องภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมภายในประเทศ ปกป้องผู้ผลิตหรือผู้บริโภคของตนแทนการกีดกันโดยใช้ภาษีหรือใช้การกำหนดปริมาณนำเข้าเช่นในอดีต ดังนั้น ทิศทางการค้าที่เริ่มมีการเปิดเสรีแบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่ NTMs จะถูกใช้มากและจะมีผลครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้น มีการนำประเด็นทางสังคมต่าง ๆ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น กำหนดเงื่อนไขการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านศุลกากร โดยเฉพาะในการนำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มผลไม้ ทางการจีนยังคงมีเงื่อนไขด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด อาทิ
- การขอใบรับรองการตรวจโรคพืชและแมลง โดยต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านสุขอนามัยพืช ณ ด่านกักกันพืช ที่ท่าอากาศยาน และท่าเรือ เช่น ในการนำเข้าลำไยกำหนดให้ หากสุ่มตรวจพบโรคและแมลงต้องนำไปรมควันด้วย Methyl Bromide ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งต้องมีใบรับรองตรวจสอบสารตกค้าง จากกรมวิชาการเกษตร ไม่ให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างที่เนื้อลำไยเกินกว่า 300 ppm และไม่มีสารตกค้างเมทามิโดฟอส สำหรับผลไม้ประเภทอื่น เช่น มะม่วงและทุเรียนที่จะส่งมายังจีนนั้นต้องมาจากสวนที่ผ่านการตรวจสอบและจดทะเบียนแล้วจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้สวนที่ไม่ได้ผ่านการรับรองไม่สามารถส่งเข้าไปในด่านหรือมณฑลที่มีการตวจสอบเข้มงวดได้
- การขอตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) “Form E” ซึ่งออกเพื่อรับรองว่าสินค้านั้นมีกำเนิดหรือผ่านกระบวนการผลิตในประเทศของตน ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศจีน โดยหนังสือนี้จะใช้เพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ในบางกรณีผู้นำเข้าผลไม้ไทยก็มักถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าที่อาจจะถูกกักตรวจ
- การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจีน แม้ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน อัตราภาษีนำเข้าจะลดเหลือศูนย์แล้วก็ตาม แต่จีนยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้า ร้อยละ 13 สำหรับผลไม้สด และร้อยละ 17 สำหรับผลไม้แปรรูป ทำให้ผู้นำเข้าผลักภาระไปให้พ่อค้าขายส่ง ขายปลีก ส่งผลให้ราคาผลไม้ของไทยสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตในจีน
ดังนั้น ในการนำเข้าสินค้า เมื่อสินค้าต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมักใช้เวลาหลายวัน การตรวจสอบที่เข้มงวดจากด่านนำเข้าสินค้าย่อมมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของผลไม้สด ซึ่งเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายและมีระยะเวลาเก็บรักษาจำกัด นักธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบในการนำเข้าในแต่ละด่านนำเข้าอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทกับหน่วยงานจีน
4. การเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมการทำธุรกิจในจีน
เมื่อทำธุรกิจกับจีน ภาษาหลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร คือ ภาษาจีนกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาจีนในระดับดี หากไม่สามารถพูดสื่อสารภาษาจีนได้ ก็ควรใช้ล่ามที่มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานในประเด็นการเจรจาธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบจีนด้วย เนื่องจากการทำธุรกิจในจีนถือได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น การสร้างสายสัมพันธ์หรือกวนซี่ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยความสะดวกกับการติดต่อฝ่ายจีน เนื่องจากการทำงานติดต่อค้าขายธุรกิจกับชาวจีน ไมว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือพ่อค้าเอกชน

•    โอกาสการค้าสินค้าเกษตรของไทยสู่จีน
1. ผู้บริโภคในมณฑลตอนในและหัวเมืองชั้นรอง
ตลาดจีนมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมากกว่า1,300 ล้านคน และเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเสถียรภาพ รายได้ของประชากรดีขึ้น นอกจากเมืองที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของจีนแล้ว มณฑลตอนในหลายแห่งยังเป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีศักยภาพ โดยขึ้นอยู่กับว่า นักธุรกิจไทยจะสามารถนำสินค้าเกษตรของไทยกระจายเข้าสู่หัวเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลอย่างไร เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งที่สุด ในจุดนี้ไทยน่าจะมีโอกาสในการเจาะตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนนิยมซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีรายได้มากขึ้น กอปรกับมีห้างสรรพสินค้ากระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น การขยายช่องทางกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคในห้างสรรพสินค้าที่มีลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูง นอกเหนือจากตลาดสดหรือร้านผลไม้ตามชุมชน ก็เป็นอีกโอกาสที่ควรพัฒนาและขยายช่องทางการขาย
2. ผลไม้ที่ไม่ใช่แค่ “ทาน” อย่างเดียว
ผลไม้ถือเป็นสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีน ทั้งในแง่ของโภชนาการและประเพณี กล่าวคือ นอกจากจะรับประทานเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ชาวจีนยังใช้ผลไม้เป็นของขวัญเพื่อมอบให้แก่กันในงานฉลองและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตามปฏิทินจันทรคติของจีนด้วย เช่น เทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง ไหว้พระจันทร์ เป็นต้น ผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมในจีนหลายชนิด ถือเป็นอีกตัวเลือกของของขวัญที่ชาวจีนที่มีรายได้สูงขึ้นใช้เป็นของขวัญมอบให้กัน โดยในหน้าช่วงเทศกาลหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ชาวจีน มักนิยมเลือกซื้อผลไม้จากไทยมารับประทานร่วมกับครอบครัว ผู้อาวุโส หรือกลุ่มเพื่อนซึ่งโดยปกติแล้ว หากมีการจัดเป็นกระเช้าของขวัญให้สวยงาม ก็ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้อีกด้วย ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจีนดีขึ้น จึงช่วยทำให้การบริโภคผลไม้เติบโตขึ้นตามไปด้วยทั้งจากการซื้อเพื่อการบริโภคเอง และการซื้อให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ
3. ชื่อเสียงของผลไม้ไทยในผู้บริโภคชาวจีน
หากกล่าวถึงผลไม้เมืองร้อน นอกจากผลไม้ที่ผลิตได้เองในประเทศตามมณฑลตอนใต้ของจีนแล้วสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ผลไม้ไทยถือได้ว่าได้รับความไว้วางใจ ทั้งในแง่ของรสชาติและคุณภาพ ครองใจผู้บริโภคอยู่ แม้ว่าราคาอาจจะค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบกับผลไม้จากแหล่งอื่น แต่ผู้บริโภคก็ยังเลือกบริโภคผลไม้ไทยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน มังคุด ลำไย ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์
4. กระแสความปลอดภัยด้านอาหารและการรักษาสุขภาพ
หลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนมีความสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมด้านอาหาร รวมทั้งสื่อมวลชนจีนก็ให้ความสำคัญอยู่เสมอ ส่งผลให้สินค้าที่จำหน่ายในตลาดต้องเน้นความปลอดภัยในการใช้หรือการรับประทานมากขึ้น ปัญหาประเด็นด้านความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาก ดังนั้น กระแสรักสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจในจีน เช่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษจึงได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงคุณค่าและความปลอดภัยของผลไม้ไทยที่มีต่อร่างกาย เพื่อเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งด้วย
5. ขยายช่องทางการนำเข้า
จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้การขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีนมีโอกาสขยายเส้นทางทะเลมุ่งสู่ตลาดจีนโดยไม่ต้องผ่านฮ่องกง เนื่องจากมีการลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ทำให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปท่าเรือและสนามบินของเมืองต่าง ๆ ของจีนโดยตรงได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกเพิ่มมากขึ้น นอกจาก การขนส่งทางเรือและเครื่องบินที่ใช้อยู่เดิมแล้ว ขณะนี้ไทยและจีนยังได้ร่วมมือกันเปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าเกษตรใหม่ ผ่านเส้นทางรถยนต์ กล่าวคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามใน ’พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน“ร่วมกับ สำนักงานควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งภายหลังการลงนามในพิธีสารฯ ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ 23 ชนิด ไปยังจีนได้ โดยผ่านเส้นทางบกสาย R3 เริ่มจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน เมืองห้วยทราย บ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อเต็น ของลาว เข้า เมืองโม่หาน จิ่งหอ เชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเหตุผลและความจำเป็นคือ เพื่อสร้างความมั่นใจระหว่างสองประเทศว่า การส่งผลไม้ระหว่างกันผ่านทางบกสาย R3 จะไม่มีการปลอมปนผลไม้และสิ่งอื่น ๆ จากประเทศอื่นและเพิ่มความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านนำเข้าระหว่างกัน และสาระสำคัญแห่งพิธีสารนั้นคือ ทั้งสองฝ่ายจะมีมาตรการกำกับดูแลการปลอมปนสินค้าโดยการปิดผนึกตู้สินค้าก่อนส่งออกและการแสดงหมายเลขกำกับ สำหรับผลไม้ 23 ชนิดนั้นได้แก่ กล้วย เงาะ ละมุด สละ มะขาม ส้มเขียวหวาน สับปะรด มะม่วง ทุเรียน มะละกอ เสาวรส มังคุด ชมพู่ มะเฟือง ส้มโอ ส้ม มะพร้าว น้อยหน่า ฝรั่ง ขนุน ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่
        ดังนั้น การเปิดเส้นทางดังกล่าวนี้จะช่วยให้นักธุรกิจไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ไปจีนและสามารถกระจายผลไม้ไปยังตลาดมณฑลทางตอนใต้และตะวันตกของจีนได้โดยตรง จากเดิมต้องผ่านฮ่องกง เซินเจิ้น หรือตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางตุ้ง แล้วจึงกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีน ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ของไทยได้เพิ่มมากขึ้น

: ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน
บทความ
น่าสนใจ

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
        664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
          โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
          Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th