อุตสาหกรรมอาหารไทยพร้อมแค่ไหน? ในเวทีอาเซียน

อุตสาหกรรมอาหารไทยพร้อมแค่ไหน? ในเวทีอาเซียน
ประเทศไทยมีนโยบาย “ครัวไทยสู่โลก” เพราะว่าแต่ละปีเรามีสินค้าหมวดอาหารส่งออกไปทั่วโลกทำรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท และปี 2555 จะเป็นปีแรกที่มูลค่าส่งออกอาหารของไทยจะแตะระดับหลักล้านล้านบาท ทั้งยังมีเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าคือปี 2560 มูลค่าส่งออกอาหารไทยจะแตะ 2 ล้านล้านบาท การรวมเป็นตลาดเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 อาหารไทยมีความพร้อมแข่งขันแค่ไหน “เพ็ชร ชินบุตร” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจ
++ศักยภาพสินค้าไทย
 “เพ็ชร” ชี้ว่าประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับหนึ่งของโลกในหลายสินค้า ทั้งยังได้วางเป้าหมายสู่การเป็นครัวโลกเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก อย่างไรก็ดีการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตและการค้าอาหารให้เข้มแข็งยังมีความจำเป็น สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้วิเคราะห์ศักยภาพไว้ 3 กลุ่ม
คือ 
    1.กลุ่มสินค้าที่สามารถแข่งขันและส่งออกได้มากขึ้น หรือกลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดอาเซียนแบ่งได้ 4 กลุ่ม (พิจารณาจากส่วนแบ่งตลาด)ได้แก่ แป้งข้าว/แป้งมันสำปะหลัง ผักผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูปอื่นๆ เนื้อสัตว์/สัตว์น้ำแปรรูป ปัจจัยที่ทำให้ไทยมีศักยภาพแข่งขันสูงคือปริมาณวัตถุดิบมีเพียงพอและคุณภาพดี ทักษะความชำนาญของผู้ผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาแข่งขันได้
    2. กลุ่มที่มีความสามารถแข่งขันทัดเทียมกัน หรือกลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพการแข่งขันระดับปานกลางในตลาดอาเซียน เป็นกลุ่มแข่งขันด้านราคามากกว่าคุณภาพ แบ่งได้ 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหารแปรรูปแป้ง ข้าวและธัญพืช ปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันอยู่ระดับปานกลางคือปริมาณวัตถุดิบมีเพียงพอและคุณภาพดี ทักษะความชำนาญของผู้ผลิตและเทคโนโลยีทันสมัยแต่แข่งขันไม่ได้เพราะต้นทุนการผลิตสูง
    3. กลุ่มสินค้าที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ดีพอ หรือกลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพการแข่งขันต่ำถึงขั้นเสียเปรียบในตลาดอาเซียน บางชนิดอาจต้องนำเข้ามากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม อาหารสัตว์/วัตถุดิบอาหารสัตว์ ผลไม้สด/แห้ง สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันพืช เมล็ดพืชน้ำมัน ผักสด เนื้อสัตว์สดแช่เย็นแช่แข็ง โกโก้/ช็อกโกแลต เครื่องเทศ ชา กาแฟ ปัจจัยที่ทำให้แข่งขันไม่ได้คือขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูง สินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ถูกกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
++ “เออีซี”โอกาสสินค้าอาหาร
 อย่างไรก็ดี”เพ็ชร” กล่าวว่าเออีซีเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยมีปัจจัยคือจีดีพีของแต่ละประเทศสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถจับจ่ายมากขึ้น เกิดการรวมศูนย์การผลิตสินค้าในแหล่งที่มีศักยภาพทางวัตถุดิบและการตลาด มีการเกิดขึ้นของกลุ่มชนชั้นใหม่ในประเทศจากการย้ายถิ่นของแรงงานในอาเซียน เช่น การเพิ่มขึ้นของผู้บริหารสัญชาติสิงคโปร์ในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ทำให้ความต้องการอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงเพิ่มขึ้น การเติบโตของชนชั้นรายได้ปานกลางเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น
การสร้างแบรนด์จากแก่นความสามารถ (core competency) อย่างเต็มรูปแบบเพื่อขยายธุรกิจในตลาดอาเซียน ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบราคาต่ำลงเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบจากหลายแหล่ง การขยายตัวของธุรกิจบริการอาหารของไทยทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องปรุงรส อาหารแข่งแข็ง อาหารสำเร็จรูป ส่งออกเพิ่มมากขึ้น การขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหารไปประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบ แรงงาน และสิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มมากขึ้น
++ระวังประเทศนอกอาเซียน
 โดยภาพรวมเออีซีเป็นโอกาสสินค้าอาหารของไทย แต่ผู้อำนวยการสถาบันอาหารแนะว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจคือการแข่งขันกับประเทศนอกอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่มีความได้เปรียบด้านทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะใช้ช่องทางเออีซีเข้ามาขยายการค้าการลงทุนในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ตลาดอาเซียนต้องแข่งขันรุนแรงขึ้น  ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมมาตรการรับมือประเด็นนี้มากกว่า
++ติวเข้มเอสเอ็มอีรับมือ
 “เพ็ชร” กล่าวว่าการเปิดเสรีอาเซียน สำหรับรายใหญ่ไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี อาจต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากหากมีการเปิดเสรีอาเซียน จะทำให้มีสินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆ หรือใกล้เคียงกันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น
สำหรับสถาบันอาหาร ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกอาหาร ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thailand Food Forward  เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโต ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าเกษตรของไทย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นได้ประมาณ 50 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี
อีกประเด็นที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารคือเรื่องของระบบความปลอดภัยในการผลิตซึ่งสถาบันอาหารได้ดำเนินโครงการ Supply Chain Management เป็นการเข้าไปพัฒนากระบวนการผลิต ให้คำปรึกษา นำไปสู่การประยุกต์ใช้ การตรวจรับรองระบบ
++แนะเพิ่มขีดแข่งขัน
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยมีขีดความสามารถ มีความได้เปรียบด้านศักยภาพการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังคงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต  ผู้อำนวยการสถาบันอาหารได้แนะกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันดังนี้
ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งได้รวมถึงต้องเร่งสำรวจตลาดอาเซียนว่ามีความต้องการอย่างไร  เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับกลุ่มผู้บริโภคในการเปิดตลาดเออีซีอย่างเป็นทางการปี 2558 ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิตที่หาได้กว้างขวางและมีราคาถูกจากประเทศที่มีทรัพยากรในกลุ่มอาเซียนไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือแรงงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย พัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมตลาดส่วนใหญ่
นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องกล้าออกไปเสี่ยงนอกประเทศมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าภายใต้การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ที่สำคัญความรู้ด้านภาษาถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากการค้าต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะภาษาอย่างน้อยภาษาอังกฤษต้องทัดเทียมกับประเทศในอาเซียน
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร สรุปตอนท้ายว่า เออีซีเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัว จะเปิดโอกาสให้คนอื่นหรือประเทศอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนในอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะเสียโอกาส  ผู้ประกอบการไทยต้องมองอนาคตที่ไกลออกไปเมื่ออาเซียนต้องเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของอาเซียน
ดังนั้นนอกจากการรวมตัวกันของอาเซียนแล้ว การจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  ยังเป็นโอกาสด้านการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการในอาเซียนขยายตลาดไปภายนอกได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทีมา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
   664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
    โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
    Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th 


บทความ
พิเศษ