การลงทุน
การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีน

คู่มือการค้าการลงทุนไทยในจีน การการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งไทยจีน
การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีน กอรปกับการที่จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้จีนมีตลาดใหญ่ภายในประเทศ อีกทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนด้วยนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาจัดตั้งบริษัทในจีนเพื่อนำสินค้าไทยเข้ามาจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในจีน
ช่วงก่อนปี 2004 ภาคการค้าของจีนยังไม่ได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเต็มที่ มีเพียงแต่เขตการค้าเสรีเท่านั้นที่มีการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ต่อมาเมื่อบริษัทเทรดดิ้งในจีนได้ถูกลดการควบคุมลง นักลงทุนต้างชาติก็เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทเทรดดิ้งได้มากขึ้น ปัจจุบันชาวต่างชาติสามารถเข้ามาจัดตั้งธุรกิจประเภทนำเข้าส่งออกและเทรดดิ้งในจีนได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันหลายกิจการก็ยังใช้บริการตัวแทนในการนำเข้า-ส่งออกอยู่ ซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีนมีข้อควรคำนึงที่สำคัญดังนี้
1. รูปแบบของการจัดตั้งกิจการ
นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในรูปแบบขององค์กรที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของหรือร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวจีนได้ การจัดตั้งธุรกิจควรคำนึงถึงขอบเขตของธุรกิจที่ได้รับการอนุญาต (เช่นเดียวกับการระบุวัตถุประสงค์ของกิจการในการจัดตั้งบริษัทที่ไทย) ซึ่งจะต้องระบุกิจกรรมของบริษัท ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ค้าขายอย่างชัดเจน และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจะมีการระบุชื่อผลิตภัณฑ์ไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน ดังนั้นการระบุขอบเขตของบริษัทจึงควรครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และควรคำนึงเสมอว่าไม่ควรดำเนินกิจกรรมใด ๆ นอกขอบเขตของธุรกิจที่ได้รับมอบการอนุมัติไว้
ในการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งจะต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของตนเองก่อนจึงจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ทุนจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของเงินสด ทั้งนี้สามารถใช้ทุนจดทะเบียนในรูปแบบสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสดแทนได้ ผู้ก่อตั้งกิจการจะต้องส่งรายงานความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการลงทุน โดยสำนักงานพาณิชย์ในท้องถิ่นจะประเมินว่าจำนวนทุนจดทะเบียนที่ระบุมีความเหมาะสมกับการดำเนินการของบริษัทหรือไม่ การจัดตั้งบริษัทในจีนจึงไม่มีทุนจดทะเบียนที่แน่นอนแต่มาจากการอนุมัติที่ได้พิจารณาจากเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ทุนจดทะเบียนบริษัทสามารถชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียวหรือผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจากต่างชาติควรศึกษากฏระเบียบในการลงทุนจัดตั้งบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นควบคู่กับแนวปฏิบัติในการจัดตั้งธุรกิจของรัฐบาลกลางประกอบควบคู่กันไปด้วย
2. ขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้ง
การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งจะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ การจัดเตรียมเอกสารจนไปถึงขั้นตอนสุดท้ายในการรับใบอนุญาตในประกอบธุรกิจ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน เอกสารประกอบการจัดเตรียมทั้งหมดเป็นภาษาจีน ผู้ประกอบต่างชาติจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยจัดเตรียมเอกสารและดำเนินการยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติในนามของตัวเอง (รายละเอียดขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งในจีนจากเอกสารดาวน์โหลดด้านล่าง)
3. ระบบภาษีในจีน
3.1 ภาษีสินค้า เมื่อธุรกิจมีการนำสินค้าเข้ามายังประเทศจีนในนามของตัวเองแล้วโดยทั่วไปจะต้องเสียภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และสินค้าบางรายการจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต อัตราภาษีแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า การจัดจำหน่ายสินค้าโดยทั่วไปจะต้องมีภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
ภาษีนำเข้า ประเทศไทยและจีนมีข้อตกลงทางการค้าตามกรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่มีผลให้สินค้าไทยหลายรายการที่ส่งออกจากไทยไปยังประเทศจีนก็ยกเว้นภาษีเสียภาษีนำเข้าเมื่อเข้าประเทศจีน และสินค้าจากจีนหลายรายการที่ส่งออกจากจีนไปยังไทยก็ยกเว้นภาษีนำเข้าของไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าบางรายการที่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหน้าเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.thaifta.com เลือก FTA China-ASEAN)
ภาษีมูลค่าเพิ่มจีนและอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่นำเข้าจีน สามารถคำนวณได้จากเว็บไซต์ทั่วไปหรือสอบถามได้ที่สำนักงานศุลกากรจีนในท้องถิ่น
3.2 ภาษีธุรกิจ
ตามกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีแล้ว ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องมีความรับผิดชอบในการชำระภาษีท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทเทรดดิ้งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 25 โดยคำนวณจากผลกำไร ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พนักงานบริษัทเทรดดิ้งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บภาษีตามอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ร้อยละ 3 – 45 ตามอัตราการประเมิน (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากคู่มือการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีน)
4. กฏระเบียบการนำเข้าจีน
4.1 การตรวจสอบสินค้านำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนำเข้ามายังประเทศจีนไม่เพียงแต่จะถูกควบคุมโดยศุลกากรจีนที่กำกับด้านอากรภาษีเท่านั้น ยังมีจากสำนักงานตรวจสอบควบคุมคุณภาพและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China: AQSIQ) ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านสุขอนามัยอีกด้วย กระบวนการตรวจสอบสินค้านำเข้ามีความแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า ผู้เข้าหากนำเข้าในนามของตัวเองจำเป็นต้องตรวจสอบกฏระเบียบการนำเข้าจากหน่วยงานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และจัดเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้าก่อนส่งออกสินค้ามายังประเทศจีน
4.2 การขออนุญาตนำเข้า
สินค้าหลายรายการเป็นสินค้าที่ทางการจีนกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตก่อนนำเข้า หรือต้องได้รับสิทธิในการนำเข้า เช่น ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า หรือได้รับจัดสรรโควต้าจำนวนที่นำเข้าก่อน ดังนั้นก่อนการนำเข้าควรตรวจสอบจากหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องก่อน
4.3 การปิดฉลากและบรรจุภัณฑ์ของสินค้า
สินค้าที่นำเข้าเกือบทุกชนิดควรจะติดสลากและห่อบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และควรปฎิบัติตามคำแนะนำของจีนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านฉลากที่หน่วยงานจีนได้กำหนดไว้
5. ข้อกำหนดในนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศ
การนำเงินลงทุนจากต่างประเทศมาเพื่อใช้ก่อตั้งกิจการครั้งแรกอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange: SAFE) ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการเคลื่อนย้ายเงินมาลงทุนในประเทศจีน รวมทั้งการชำระเงินตราต่างประเทศ หากนำเข้าสินค้าเข้ามาในจีนจะต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบการชำระเงินตราต่างประเทศโดยสำนักบริหารเงินตราต่างประเทศก่อน สำหรับการโอนเงินออกนอกประเทศ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในจีน หลังจากที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว บริษัทเทรดดิ้งจะต้องเขียนใบคำขอโอนเงิน พร้อมใบเสร็จที่แสดงการเสียภาษีต่อสำนักบริหารเงินตราระหว่างประเทศ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วธนาคารจึงจะสามารถดำเนินการโอนเงินออกไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
6. ระเบียบปฏิบัติสำหรับการจ้างงาน
บริษัทต่างชาติสามารถจ้างชาวต่างชาติหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อปฎิบัติงานได้ภายใต้จำนวนที่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานแรงงานท้องถิ่น เมื่อมีการจ้างงานชาวจีน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้าโครงการประกันสังคมให้กับพนักงานชาวจีน ซึ่งครอบคลุมในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น บำนาญและค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ในบางพื้นที่พนักงานชาวต่างชาติถูกกำหนดให้ต้องเข้าโครงการประกันสังคมด้วยเช่นกัน
การขอวีซ่าทำงานและใบอนุญาตพำนักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ
การขอวีซ่าการทำงานของลูกจ้างชาวต่างชาติจะต้องใช้จดหมายเชิญเข้าทำงานที่ได้รับจากนายจ้างซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการขอใบอนุญาตทำงานสามารถขอได้จากสำนักแรงงานท้องถิ่น และการขอใบอนุญาตพำนักอาศัยสามารถขอได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำกรมรักษาความสงบภายใน ในท้องถิ่น ( Entry - Exit Administrative Service Center, Public Security Bureau, 公安局出入境管理分局)
7. การครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง
กิจการธุรกิจเทรดดิ้งควรมีสำนักงานเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถเช่าหรือซื้อก็ได้โดยจะต้องมีสัญญาเช่าที่ถูกต้อง หรือการเป็นการซื้อจะต้องมีใบรับรองความเป็นเจ้าของเป็นหลักฐาน โดยที่อยู่อย่างเป็นทางการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าจะต้องระบุลงในใบอนุญาตประกอบการที่ได้จดทะเบียนไว้ตรงกันด้วย การเลือกสำนักงานควรเป็นอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ในย่านการพาณิชย์ไม่ใช่ย่านอาคารที่พักอาศัย และที่อยู่ควรเป็นที่อยู่อย่างเป็นทางการของบริษัทเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ที่อยู่จดทะเบียนรวมกันกับกิจการอื่นได้
การจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งเพื่อขายสินค้าไทยในจีนหรือนำเข้าสินค้าจากจีน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่นสำนักงานที่ปรึกษากฏหมายหรือสำนักงานบัญชีมืออาชีพในท้องถิ่นเพื่อยื่นเรื่องขอจัดตั้งกิจการได้ ความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในคู่มือจัดตั้งธุรกิจเทรดดิ้งในจีน

: ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน



บทความ
ทั่วไป

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
   664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
    โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
    Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th