การค้า
การส่งออกสินค้าไปจีน
    •       ตอนที่ 1 : ศึกษากฎระเบียบจีน
How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
" ส่งออกสินค้าไทยไปจีน " เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจ สิ่งสำคัญอันดับแรกคงไม่ใช่ว่าจะขายไปให้ใครหรือจะขายได้ปริมาณเท่าไร แต่ควรเป็นการสำรวจก่อนว่า ตัวเราได้ทำการบ้านเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนได้เพียงพอแล้วหรือยัง? 
        ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจจะส่งออกสินค้าไปจีน ด้วยการถ่ายทอดข้อมูล "ปูพื้นฐานความพร้อม" ก่อนการส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านบทความ How to export to China ซึ่งครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่การตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและจีนรวมถึงการเตรียมพร้อมในตัวสินค้า เอกสารที่ต้องใช้ในการส่งออก และการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น
บทความในตอนแรกจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสำรวจว่า สินค้าของตนมีความพร้อมสำหรับส่งออกไปจีนหรือไม่ โดยจะแนะนำข้อมูลกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศว่า สินค้าใดนำเข้าได้บ้าง มีข้อจำกัดอย่างไร ต้องมีมาตรฐานระดับไหน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแน่ใจว่าสินค้าที่ตนมีอยู่พร้อมที่จะส่งออกไปจีนได้โดยจะไม่ติดอุปสรรค ณ ปลายทาง ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 : ตรวจสอบประเภทสินค้านำเข้าตามกฎระเบียบจีน
รัฐบาลจีนได้มีกฎระเบียบกำหนดประเภทสินค้าที่จะนำเข้ามายังจีน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคงของประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.    สินค้าห้ามนำเข้า
2.    สินค้ามีโควต้าการนำเข้าหรือมีโควต้าภาษี
3.    สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า และ
4.    สินค้าทั่วไป
1) สินค้าห้ามนำเข้า
o    อาวุธ กระสุนปืน ระเบิด
o    ต้นไม้ เมล็ดพันธ์ต้นอ่อน
o    เงินตราปลอม หลักทรัพย์ปลอม
o    ปุ๋ย สารปรุงแต่ง สารหรือยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเพาะปลูก
o    สารกัมมันตรังสีหรือขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม
o    เสื้อผ้าเก่าที่ใช้แล้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ที่ถูกใช้แล้ว ซากรถยนต์
o    สินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของสีหรือสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามนำเข้า
o    ยาพิษที่ทำให้ถึงแก่ความตาย ยาเถื่อนที่ผิดกฏหมาย อาหารและยาหรือวัตถุอื่นใดที่นำมาพื้นที่ที่มีโรคระบาด
o    สิ่งพิมพ์ (ทั้งข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิทอล ฟิลม์ ภาพถ่าย) ที่เป็นอันตรายต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และศีลธรรมอันดีงามของจีน รวมถึงหนังสืออนาจาร
*** แหล่งข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ http://otp.moc.go.th ***
2) สินค้ามีโควต้า
หน่วยงาน National Development and Reform Commission (www.ndrc.gov.cn) จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จีนในการกำหนดปริมาณการนำเข้าสินค้ารายปีจากต่างประเทศ และจะจัดสรรโควต้าดังกล่าวให้แก่ภาค เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน เพื่อดำเนินการนำเข้าต่อไป ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะเป็นผู้บริหารจัดการโควต้าที่ได้รับจากรัฐบาลจีน โดยอาจเป็นผู้นำเข้าเองหรือรับซื้อสินค้าจากภาคเอกชนรายย่อยอื่นๆ
สินค้าที่จีนจำกัดโควต้าการนำเข้าจะมีการอัพเดทรายการและปริมาณเป็นระยะๆ โดยสามารถดูรายชื่อสินค้าได้จากประกาศในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ http://otp.moc.go.th โดยรายการสินค้าที่จีนกำหนดโควต้านำเข้าจากไทยในปัจจุบัน ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดเรพ (Rapeseed) น้ำมันปาล์ม น้ำตาล และขนแกะ (wool และ wool tops)
หมายเหตุ :
(1) ในกรณีที่ผู้ส่งออกไทยอยู่ระหว่างการติดต่อซื้อขายสินค้าที่มีโควต้ากับคู่ค้าจีน ควรสอบถามคู่ค้าดังกล่าวว่าได้รับสิทธิโควต้าการนำเข้าสินค้าตามที่กำหนดจากรัฐบาลจีนแล้วหรือไม่ หรือโควต้าการนำเข้าที่ได้รับอนุญาตยังมีปริมาณเหลืออยู่เพียงพอหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา ณ ด่านปลายทางที่จีน
(2) National Development and Reform Commission และกระทรวงพาณิชย์จีนอาจพิจารณาอนุญาตให้ภาคเอกชนจีนสามารถนำเข้าสินค้าบางรายการเกินโควต้าที่กำหนดได้ โดยสินค้าดังกล่าวจะถูกกำหนดภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูง
3) สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า
ทางการจีนได้กำหนดให้นิติบุคคลจีนเท่านั้น (บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศจีน) ที่จะสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า 3 หมวดหลักที่ต้องขออนุญาตก่อนการนำเข้าจริง ซึ่งประกอบด้วย 1) ผักสดและผลไม้ 2) ยางพารา และ 3) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ
1) ผักสดและผลไม้สด
ผู้นำเข้าต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์จีน โดยปกติขั้นตอนการขออนุญาตจะใช้เวลาประมาณ 30 วันทำการ และใบอนุญาตมีอายุ 6 เดือน โดยหากต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง จำเป็นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
** ผลไม้สด 22 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยในปัจจุบัน ได้แก่ กล้วย ขนุน เงาะ ชมพู่ ทุเรียน น้อยหน่า ฝรั่ง มะขาม มะพร้าว มะเฟือง มะม่วง มะละกอ มังคุด ลองกอง ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ สับปะรด เสาวรส
2) ยางพารา
ใช้ระบบการอนุญาตการนำเข้าโดยอัตโนมัติ (Automatic Import Permit) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้
14.    ใช้สัญญาการซื้อขายและหลักฐานการจดทะเบียนของบริษัทผู้นำเข้าจีน เป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าในแต่ละครั้ง
15.    ผู้นำเข้าในจีนต้องเป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนกำหนด หรือเป็นบริษัท ร่วมทุนต่างชาติที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของบริษัท
16.    ผู้นำเข้ายางพาราในจีนต้องขอ Automatic Import Permit ก่อนการนำเข้าจริง (ระยะเวลาในการขออนุญาตประมาณ 10 วันทำการ)
17.    ใบอนุญาตอัตโนมัติสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ได้รับอนุมัติการนำเข้า
3) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ
กระทรวงพาณิชย์จีน กรมศุลกากรจีน และสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) ได้กำหนดรายการสินค้าอื่นๆ ที่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากทั้ง 3 หน่วยงานก่อน โดยแบ่งเป็น 12 หมวดหลัก ได้แก่
18.    อุปกรณ์ทางเคมี
19.    อุปกรณ์หลอมโลหะ
20.    เครื่องจักรทางวิศวกรรม
21.    อุปกรณ์การยกเคลื่อนย้าย
22.    อุปกรณ์ผลิตกระดาษ
23.    อุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
24.    อุปกรณ์บรรจุและแปรูปอาหาร
25.    เครื่องจักทางเกษตรกรรม
26.    เครื่องจักรการพิมพ์
27.    เครื่องจักรสิ่งทอ
28.    สินค้าประเภทเรือ
29.    ตลับหมึกพิมพ์
** ข้อมูลเพิ่มเติมที่หมายเหตุ (2) **
หมายเหตุ :
(1) หากผู้ส่งออกไทยอยู่ระหว่างการติดต่อซื้อขายกับคู่ค้าจีน ควรสอบถามคู่ค้าดังกล่าวว่าได้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้ารายการที่กำหนดอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดปัญหา ณ ด่านปลายทางที่จีน (แต่ละรายการสินค้าจะมีใบอนุญาตนำเข้าแยกกัน เช่น มีใบอนุญาตนำเข้ามะม่วง ก็สามารถนำเข้ามะม่วงได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำเข้าทุเรียนได้ เป็นต้น)
(2) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ จะประกาศใหม่ทุกๆ ปี ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์จีน เช่น รายการสินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ ประจำปี 2556 สามารถดูได้ที่ http://wms.mofcom.gov.cn/accessory/201212/1356596816159.xls (ข้อมูลเป็นภาษาจีน)
4) สินค้าทั่วไป
สินค้าที่อยู่นอกเหนือจาก 3 รายการแรกล้วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าทั่วไป ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณและการขออนุญาตนำเข้า สามารถนำเข้ามาในจีนได้อย่างเสรีภายใต้กฎระเบียบการนำเข้าจีนตามประเภทของสินค้าที่รัฐบาลจีนได้กำหนดไว้ 
ประเด็นที่ 2 : ตรวจสอบกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้านำเข้าของจีน
หลังจากตรวจสอบแล้วว่าสินค้าชนิดใดสามารถส่งออกไปจีนได้ ก่อนการส่งออกควรตรวจสอบกฎระเบียบการนำเข้าสินค้านั้นๆ ของจีน เพื่อเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปกฎระเบียบการนำเข้าจะมุ่งเน้นควบคุมด้านมาตรฐานสินค้า ความปลอดภัย และสุขอนามัยของสินค้าเป็นหลัก โดยข้อกำหนดบางรายการเกี่ยวข้องตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตและจัดเตรียมสินค้าด้วย
ทั้งนี้ กฎระเบียบและมาตรการการนำเข้าของจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปจีนจึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลกฎระเบียบกับหน่วยงานจีนหรือหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้จัดเตรียม สินค้าให้ถูกต้องตามข้อกำหนด และหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าถึงจีนได้ โดยข้อกำหนดมาตรการการนำเข้าตลอดจนมาตรฐานสินค้านำเข้าของหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) มาตรการสุขอนามัยพืช
สำหรับสินค้าผักและผลไม้ ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn
2) มาตรการสุขอนามัยสัตว์น้ำ
สำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอาหารทะเลสด/แช่แข็ง ภายใต้การควบคุมโดย สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn และกรมประมงจีน www.agri.gov.cn
3) มาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร
สำหรับสินค้าประเภทเครื่องดื่ม นม อาหารเด็ก อาหารบำรุงร่างกาย อาหารรมควัน เครื่องปรุงแต่งอาหาร น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร อาหารกระป๋อง ถั่ว สุรา ธัญญาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้เห็ด ภายใต้การควบคุมโดย State Administration for Industry and Commerce (SAIC) www.saic.gov.cn และสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn
4) มาตรฐานยา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอางค์
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ภายใต้การควบคุมโดย State Food and Drug Administration (SFDA) www.sfda.gov.cn
5) มาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตรอินทรีย์
ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงาน China Organic Food Development Center (OFDC) www.ofdc.org.cn
6) มาตรการการบรรจุภัณฑ์และหีบห่อของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
สำหรับสินค้าอาหาร ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ)www.aqsiq.gov.cn และกระทรวงพาณิชย์จีน www.mofcom.gov.cn
7) ข้อกำหนดการจัดการติดฉลาก อาหารนำเข้า-ส่งออก
สำหรับสินค้าอาหารและ Pre-packaged food ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn
8) มาตรฐานการจัดการวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn
9) มาตรฐานการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม GMOs
ภายใต้การควบคุมโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จีน www.moa.gov.cn
10) การกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit: MRLs)
ภายใต้การรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขจีน (MOH) www.moh.gov.cn และ Standardization Administration of China (SAC) www.sac.gov.cn
11) ข้อกำหนดการรับรองความปลอดภัยและสุขอนามัยของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยเครื่องหมาย CCC Mark
สำหรับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องจักรกลการเกษตร กระจกนิรภัย เครื่องดนตรี ของเล่น/เกม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ภายใต้หน่วยงาน China Quality Certification Center –CQC (www.cqc.com.cn) และ China Certification Center for Electromagnetic Compatibility – CEMC (www.cemc.org.cn)
หมายเหตุ : นอกจากติดตามตรวจสอบมาตรการและข้อกำหนดการนำเข้าของทางการจีนจากหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าข้างต้นแล้ว ยังสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
30.    สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย (www.dft.go.th)
31.    มาตรการด้านสุขอนามัยของพืชและสัตว์ระหว่างจีนและอาเซียน http://www.chinaaseansps.com
32.    กฏระเบียบการนำเข้าผลไม้ในจีน โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ณ กรุงปักกิ่ง http://www.thaifruits-online.com
ประเด็นที่ 3 : ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้าของจีน
ปัจจุบันจีนและอาเซียนมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ซึ่งทำให้สินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้า โดยข้อตกลงดังกล่าวแบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้ารายการปรกติทั่วไป (Normal Track) ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าสุดท้าย คือ 0% รายการสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) และสินค้าอ่อนไหวสูง (High Sensitive Track) ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการความคุ้มครองและจะมีระยะเวลาการลด/เลิกภาษีนานกว่าสินค้าปกติ โดยผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าที่ส่งออกไปจีนได้จากแหล่งข้อมูล ดังนี้
1) เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
o    หน้า FTA China-ASEAN http://www.thaifta.com
o    สินค้ารายการปรกติทั่วไปที่ส่งออกไปจีน http://www.thaifta.com/trade/china/china-2010-2012.xls
o    รายการสินค้าอ่อนไหวของจีน http://www.thaifta.com/trade/china/sensitive_list.pdf
o    รายการสินค้าอ่อนไหวสูงของจีน http://www.thaifta.com/trade/china/highly_senlist.pdf
2) เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์จีน
o    หน้าโปรแกรมคำนวณอัตราภาษีอัตโนมัติ (FTA Tariff Calculator) http://ftanew.mofcom.gov.cn/ftaEn/FTABrowser.jsp
o    หน้าตารางการลดภาษีของจีนที่จีนลดให้กับประเทศในกลุ่ม FTA China-ASEAN http://www.asean-cn.org/Item/3254.asp
o    หน้า http://fta.mofcom.gov.cn/dongmeng/dm_guanshui.shtml
หมายเหตุ : สินค้าบางรายการแม้ว่าจะมีศักยภาพส่งออกไปจีน แต่เมื่อนำเข้าไปแล้วต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงจนทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดจีนได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าจีนล่วงหน้า เพื่อใช้ในการวางแผนคำนวณต้นทุนสินค้า และเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกส่งออกสินค้าไปจีน ทั้งนี้ การใช้สิทธิการลดภาษีการนำเข้าตามข้อตกลง FTA จีน – อาเซียน ผู้ส่งออกต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E ใช้ประกอบในเอกสารการส่งออกด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อๆ ไป   
สำหรับบทความในตอนแรกนี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าไปจีนมีความชัดเจนในเบื้องต้นแล้วว่า สินค้าที่มีอยู่สามารถส่งออกไปจีนได้หรือไม่ และจะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องมาตรฐานสินค้าตามกฎระเบียบจีนอย่างไร รวมถึงทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเบื้องต้น โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกของไทย เร็วๆ นี้
  •     ตอนที่ 2 : ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย
How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
จากบทความตอนแรกที่ได้กล่าวถึงกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าสู่จีนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าที่จะได้รับ ซึ่งเป็นข้อมูลให้ผู้ส่งออกของไทยใช้พิจารณาว่าสินค้าของตนเองมีความพร้อมที่จะส่งออกไปจีนหรือไม่ หากว่าสินค้ามีความพร้อมตามข้อกำหนดของทางการจีนและประเมินว่ามีโอกาสเติบโตในตลาดจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การศึกษากฎระเบียบในส่วนของไทย
ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาว่าไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง และสินค้าแต่ละประเภทมีข้อกำหนดและขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกอย่างไร ตลอดจนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนจึงขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผ่านบทความตอนที่ 2 เรื่อง "ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย" 
รู้จักสินค้า.. ก่อนเดินหน้าส่งออก
ในเบื้องต้น ก่อนการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนหรือประเทศอื่นๆ จำเป็นจะต้องศึกษาดูว่าทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวสินค้าที่สนใจจะส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้แบ่งสินค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
0.    สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก
1.    สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก
2.    สินค้ากำหนดโควต้าส่งออก และ
3.    สินค้าทั่วไป
1) สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก
พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เพื่อเป็น การรักษามาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกจากไทย ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันแก่สินค้าส่งออกของไทยด้วย
ปัจจุบัน ไทยกำหนดสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก 10 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวฟ่าง แป้งมันสำปะหลัง ปลาป่น ไม้สักแปรรูป ปุยนุ่ย ถั่วเขียว และถั่วเขียวผิวดำ โดยสามารถดูข้อมูลอ้างอิงได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ของไทย www.moc.go.th
หมายเหตุ :
(1) การส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้ส่งออกก่อน (จะกล่าวถึงรายละเอียดในลำดับต่อไป) โดยหลังจากที่ได้รับบัตรประจำตัวผู้ส่งออกแล้ว จำเป็นจะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานดังกล่าวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนได้ที่ http://ocs.dft.go.thเมนู “ผู้ทำการค้า  ขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน”
(2) หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้ว จะต้องนำสินค้าที่ต้องการส่งออกให้สำนักงานตรวจสอบมาตรฐาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคล/ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ทำการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว
(3) หลังจากสินค้าผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับ “ใบรับรองมาตรฐานสินค้า” จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารประกอบการส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น
2) สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก
พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรการสำหรับ การส่งออกสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการจัดระเบียบควบคุมการส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลไทยกำหนดเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้วย
ปัจจุบัน ไทยแบ่งสินค้าที่มีมาตรการการส่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าห้ามส่งออก สินค้าที่ต้อง ขออนุญาตส่งออก และสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก
สินค้าห้ามส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออก “ทราย” เพื่อสงวนไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
สินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก
1) สินค้าเกษตรกรรม ได้แก่
o    ข้าว / ข้าวส่งออกภายใต้โควต้าภาษีของสหภาพยุโรป
o    ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
o    ไม้และไม้แปรรูป
o    กาแฟ
o    กากถั่ว
o    ถ่านไม้
o    ช้าง
o    กุ้งกุลาดำมีชีวิต
o    หอยมุกและผลิตภัณฑ์
o    ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต
2) สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่
o    น้ำตาลทราย
o    ถ่านหิน
o    เทวรูป
o    พระพุทธรูป
o    ทองคำ
o    สินค้ารี-เอ็กซ์ปอร์ต
o    แร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ
สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก
21.    ผัก ผลไม้
22.    ดอกกล้วยไม้
23.    ลำไย
24.    ทุเรียน
25.    กุ้ง ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์
26.    ปลาทูน่าบรรจุภาชนะอัดลม
27.    สับปะรดกระป๋อง
28.    เครื่องนุ่งห่ม ด้าย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์ทออื่นที่มิใช่เครื่องนุ่งหุ่ม
29.    รถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ส่งออกไปไต้หวัน
30.    เพชรที่ยังไม่เจียระไน
หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการของสินค้าแต่ละประเภทได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.dft.go.th (หน้ามาตรการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทย) หรือติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86
3) สินค้าที่มีโควต้าส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดโควต้าการส่งออกสินค้าบางประเภท เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบันได้จำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญ 4 รายการ ได้แก่ 1) ข้าว 2) มันสำปะหลัง 3) น้ำตาล และ 4) ยางพาราโดยสามารถศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้าทั้ง 4 รายการดังกล่าวได้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86 หรือสายด่วนหมายเลข 1385 เว็บไซต์ http://www.dft.go.th
4) สินค้าทั่วไป
สินค้าทั่วไป หมายถึง สินค้าอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากประเภทสินค้า 3 ประเภทข้างต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้โดยเสรี
เตรียมตัวทำบัตร.. ยื่นขออนุมัติเป็นผู้ส่งออก
เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกสามารถส่งออกไปจีนได้ตามกฎระเบียบการนำเข้าของจีนและกฎระเบียบการส่งออกของไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอบัตรที่ใช้ประกอบในการส่งสินค้าไปต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ และลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย
1. บัตรประจำตัวผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า
หากต้องการจะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นจะต้องมีบัตรใบนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงสถานะการเป็น ผู้ส่งออก ซึ่งต้องใช้สำหรับติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น การขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การขออนุมัติเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานและมาตรการส่งออก เป็นต้น โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการทำบัตรได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474754 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 ต่อ 4101, 4161 หรือศึกษารายละเอียดการจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นด้วยตนเอง และดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th/LinkClick.aspx?fileticket=WFwcHdPpdu0%3d&tabid=101
2. การลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย
เดิมทีผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจะต้องทำบัตรฐานข้อมูลประจำตัวกับกรมศุลกากรไทย เพื่อใช้แสดงสำหรับดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร แต่ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เปิดให้บริการพิธีการศุลกากรการส่งออกระบบไร้เอกสาร (paperless) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้ยกเลิกใช้บัตร Smart Card ดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ที่จะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากรก่อนจึงจะสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ โดยสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร http://www.customs.go.th เมนูหลัก "ผู้ประกอบการ" เมนูย่อย "การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า - ส่งออก / การขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของ" หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศุลกากร หมายเลข 1164
เข้าร่วมสมาชิกหน่วยงาน.. รับข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์
นอกจากผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศจะศึกษาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้ว ยังอาจพิจารณาสมัครเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น การสมัครสมาชิกรายชื่อผู้ส่งออกสินค้าไทย (Exporter List E.L.) กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถได้รับการสนับสนุนด้านบริการต่างๆ ของกรมฯ อาทิ การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อัพเดทใหม่ ข่าวสารการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่างๆ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้จะจัดแบ่งประเภทของสมาชิกผู้ส่งออกตามประสบการณ์ด้านการส่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) สมาชิกที่มีประสบการณ์การส่งออกแล้ว 2) สมาชิกที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการส่งออก 3) สมาชิกประภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) และ 4) สมาชิกประเภทกลุ่มธุรกิจบริการ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.ditp.go.th/Exporter/Intro.htm
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภา ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสมาคมการค้าที่สำคัญของไทยตามประเภทสินค้าที่ต้องการส่งออก อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมอาหารแช่แข็งไทย เป็นต้น  
สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทราบวิธีการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทย และทราบกฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าที่จะส่งออกจากไทยได้ในระดับหนึ่งแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการส่งออกไปยังจีน เร็วๆ นี้
  •     ตอนที่ 3 : จัดเตรียมเอกสารก่อนส่งออกไปจีน
บทความในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกฎระเบียบของไทยเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกได้ และสินค้าที่มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการการส่งออก ตลอดจนได้แนะนำถึงการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย โดยหากได้ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและเตรียมตัวพร้อมที่จะส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกจากไทยและนำเข้าสู่จีนก่อนออกจากไทย.. เอกสารใดต้องใช้บ้าง?
    โดยทั่วไปแล้ว ก่อนการส่งสินค้าออกจากไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบกับการส่งออกสินค้านั้นๆ เช่น ใบอนุญาตส่งออก ใบรับรองมาตรฐานสินค้า ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการผ่านพิธีการทางศุลกากรของไทย หากจัดเตรียมไม่ครบศุลกากรไทยจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
    ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าแต่ละประเภทจะมีขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารที่แตกต่างกัน และหน่วยงานไทยผู้รับผิดชอบด้านการออกเอกสารดังกล่าวก็แตกต่างกันด้วย อาทิ ปลาน้ำจืด จะต้องขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำจาก กรมประมง น้ำตาล จะต้องใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์ยา จะต้องขอใบรับรองวิธีการ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานยาจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ เป็นต้น         
    โดยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารการส่งออกแบ่งตามรายการสินค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th เมนูหลัก "กฎระเบียบ" เมนูย่อย "กฎระเบียบขั้นตอนการส่งออกรายสินค้า" หรือสามารถคลิกหมวดหมู่รายการสินค้าดังต่อไปนี้ เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าฯ ในหน้ากฎระเบียบการจัดเตรียมเอกสารส่งออกและหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเอกสาร
สินค้าอาหาร
- อาหาร
- เครื่องดื่ม
สินค้าเกษตร
- ไม้ดอก ไม้ประดับ
- ข้าว
- ยาง
สินค้าไลฟ์สไตล์ / OTOP
- เฟอร์นิเจอร์
- ของใช้ในบ้าน
- ของขวัญและเครื่องตกแต่งบ้าน
- ของเล่น
- เครื่องเขียนและสิ่งพิมพ์
สินค้าอุตสาหกรรม
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์
- วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง
- ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
- พลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์
- เครื่องจักรกล
- เชื้อเพลิง
สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
- เคมีภัณฑ์
- เครื่องสำอาง
- ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม
สินค้าอื่นๆ
- ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก
- เบ็ดเตล็ด
- ธุรกิจบริการ
สินค้าแฟชั่น
- อัญมณีและเครื่องประดับ
- เครื่องหนัง
- รองเท้า
- สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

มีเอกสารใด.. ที่ต้องใช้ผ่านด่านจีน?
    ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 การส่งออกสินค้าไปยังจีนนอกจากจำเป็นต้องเตรียมสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดทางการจีนแล้ว ยังจะต้องจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่ต้องยื่นขอตั้งแต่อยู่ที่ไทยเพื่อใช้ในจีนอีกด้วย
    ทั้งนี้ หลังจากจัดเตรียมเอกสารสำหรับผ่านพิธีการศุลกากรฝั่งไทยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบคุณภาพ ควบคุมและกันกันโรคของจีน ณ ด่านจีน (CIQ) ด้วย อาทิ
หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E
สินค้าส่งออกจากไทยที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจีนตามเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจีน – อาเซียนนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภท ‘Form E’ ซึ่งเป็นการรับรองว่า สินค้าที่จะส่งออกดังกล่าวประกอบด้วยวัตถุดิบภายในประเทศ มีการผลิตหรือผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการส่งออกสามารถยื่นขอหนังสือรับรองดังกล่าวได้จากหน่วยงานไทยที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่
1.กรมการค้าต่างประเทศ (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.dft.go.th เมนูหลัก “บริการจากกรม” เมนูย่อย "บริการอิเล็กทรอนิกส์" หัวข้อ "ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า" หัวข้อย่อย “ดาวน์โหลด”)
2.หอการค้าแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ http://www.thaichamber.org เมนูหลัก “TCC SERVICES” เมนูย่อย “รับรองเอกสารเพื่อการส่งออก C/O”)
3.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.fti.or.th เมนูหลัก “ผลิตภัณฑ์และบริการ” เมนูย่อย “ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า”)
ใบรับรองมาตรฐานสินค้าอื่นๆ เฉพาะรายการ
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ถึงเรื่องข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าจีน ซึ่งต้องมีการยื่นขอใบรับรองต่างๆ ก่อน เช่น ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ใบอนุญาตนำเข้ายางพาราหรือสินค้าหมวดพิเศษ ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถศึกษาระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานและรายละเอียดของใบรับรองต่างๆ ที่ทางการจีนกำหนดได้ที่เว็บไซต์ www.aqsiq.gov.cn หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) โทรศัพท์ (02) 237-7740 เว็บไซต์ www.ccicthai.com

ใบรับรองเครื่องหมาย CCC Mark (China Compulsory Certificate)
"CCC Mark" เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อจำหน่ายหรือใช้ในกระบวนการผลิตต่อ ซึ่งจะต้องตีประทับบนตัวสินค้านั้นๆ โดยกำหนดให้ใช้กับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่
ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า
ผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาโทรคมนาคม
อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย
รถยนต์
วัสดุก่อสร้าง
ผลิตภัณฑ์ยางพารา
เครื่องจักรกลการเกษตร
กระจกนิรภัย
เคื่องดนตรี / ของเล่น
อุปกรณ์การแพทย์
ทั้งนี้ ใบรับรองสินค้าประเภทต่างๆ ข้างต้นจะต้องยื่นขอและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานจีน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นขอ CCC Mark และหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกใบรับรองได้ที่
1) ศูนย์รับรองคุณภาพแห่งประเทศจีน http://www.cqc.com.cn เมนูหลัก “Certification” หัวข้อ “Product Certification”
2) ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุนกับจีน http://www.chineselawclinic.moc.go.th เมนู "การขอฉลากสินค้า" หัวข้อ "มาตรฐานบังคับ CCC Mark"

รับรองลายมือชื่อ.. สำหรับหนังสือที่ต้องแปล
เอกสารบางประเภทที่ออกจากฝั่งไทยและต้องการนำเข้าไปใช้ในจีน จำเป็นจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และ/หรือรับรองว่า ลายมือชื่อ/ตราประทับที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อและตราประทับของผู้ที่มีอำนาจลงนามของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวจริง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวง การต่างประเทศ โดยเอกสารที่อาจต้องทำการรับรองก่อนใช้ในจีน อาทิ
- หนังสือรับรองจากหน่วยงานไทย
- หนังสือรับรองที่กล่าวในข้างต้น อาทิ ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ 
- ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งออกโดยหน่วยงานไทย

เอกสารทางการค้า
เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งทางการจีนอาจเรียกตรวจสอบสำหรับกรณีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อกำหนดมาตรการ ทางการค้า อาทิ สินค้ามีโควต้า เป็นต้น
หมายเหตุ :
(1) ศึกษารายละเอียดการเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นคำร้องขอรับรองเอกสารและค่าธรรมเนียมการรับรองของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ที่ http://www.consular.go.th เมนู “บริการ” หัวข้อ “รับรองเอกสาร”
(2) หลังจากที่กรมการกงสุลรับรองลายมือชือของเอกสารแล้ว จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่ออีกครั้งจากหน่วยงานจีนที่อยู่ในไทยก่อน กล่าวคือ สถานทูตจีนหรือสถานกงสุลจีนที่ตั้งอยู่ในไทย โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการรับรองเอกสาร รับรองลายมือชื่อ ได้ที่ http://th.china-embassy.org/th/lsfw/gzrz/t571146.htm 
สำหรับบทความในตอนที่ 3 นี้น่าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยทราบข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบ การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในเบื้องต้นแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงข้อมูลเกี่ยวกับ การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร เร็วๆ นี้       
  •     ตอนที่ 4 : การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร
    How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
    บทความในตอนที่ผ่านมาได้อธิบายถึงการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่ศุลกากรไทยใช้ตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารที่ศุลกากรจีนใช้ตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่จีน ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เตรียมเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว คือ การดำเนินการเพื่อจัดส่งสินค้าจากไทยสู่จีน
สำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้อง ศึกษาข้อกำหนดการส่งมอบสินค้า (Incoterms) รวมถึงการประกันภัยสินค้า ในกรณีที่ Incoterms ครอบคลุมความรับผิดชอบด้านประกันภัยถึงผู้ส่งออกด้วย อีกทั้งการผ่านพิธีศุลกากรของทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความตอนที่ 4 เรื่อง "การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร" ซึ่งเป็น ตอนจบของบทความชุด How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
"Incoterms" รู้จักไว้.. เลือกใช้ตามความเหมาะสม

ระหว่างการตกลงซื้อขายสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องหารือกับผู้ซื้อแล้วว่าจะใช้เงื่อนไขการมอบสินค้า (Incoterms) แบบไหน โดยแต่ละ Incoterms ได้กำหนดให้ผู้ขายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในลักษณะใด โดยปัจจุบันสภาหอการค้านานาชาติ (ICC: International Chamber of Commerce) ได้กำหนด Incoterms ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2010 ไว้เป็นแนวทางสำหรับคู่ค้าใช้พิจารณาเลือกใช้รวมทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่
1. EXW (Ex Works)
ผู้ขายรับภาระจัดเตรียมสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขาย (ส่งมอบ ณ โรงงาน) โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง
2.FCA (Free Carrier)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งซึ่งกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออก รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงภัยตลอดระยะการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งด้วย ขณะที่ผู้ซื้อจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและ ความเสี่ยงภัยไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง
3.FAS (Free Alongside Ship)
ผู้ขายรับภาระนําสินค้าส่งไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนำสินค้าของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกเองด้วย
4.FOB (Free On Board)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกด้วย ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว
5.CFR (Cost and Freight)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว
6.CIF (Cost, Insurance & Freight)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายจะต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก อีกทั้งจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง
7.CPT (Carriage Paid To)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าด้วย ขณะที่ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าถูกส่งมอบให้ แก่ผู้รับขนส่งสินค้า ณ เมืองท่าต้นทาง
8.CIP (Carriage and Insurance Paid To)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง
9.DAT (Delivered At Terminal)
เป็นเทอมใหม่แทน DEQ โดยผู้ขายตามเทอม DAT รับภาระขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังสถานที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทางหรือสถานที่ที่ระบุไว้
10.DAP (Delivered At Place)
เป็นเทอมใหม่แทน DAF , DES , DEQ และ DDU โดยผู้ขายตามเทอม DAP ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า รวมถึงจะต้องรับความเสี่ยงภัยจนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง
11.DDP (Delivered Duty Paid)
ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ ผู้ซื้อระบุไว้ ตลอดจนต้องดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าและจ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย
หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Incoterms ได้ที่เว็บไซต์ www.livingstonintl.com เมนู Resources เลือก Shipping หัวข้อ “Incoterms® 2010”
ขนส่งออกไทย.. ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์
สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าออกจากไทยนั้น ตามปกติแล้ว ผู้ส่งออกจะติดต่อกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยดำเนินการขนส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ได้เจรจาไว้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในจีน โดยบริการของบริษัทโลจิสติกส์มีตั้งแต่การติดต่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อดำเนินการเรื่องการจองระวางเรือ (หรือพื้นที่ระวางสินค้าทางบก/อากาศ) การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีศุลกากรขาออกจากไทย การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า หรือการประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัท Freight Forwarder บางรายอาจรับทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาและจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator) หรือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เจ้าของเรือ (Non-Vessel Operating Common Carrier : NVOCC) ซึ่ง Freight Forwarder จะมีสถานะเสมือนหนึ่งผู้รับขนส่งสินค้าที่สามารถจะลงนามในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้ด้วย
ผู้ส่งออกสามารถค้นหารายชื่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริษัทชิปปิ้งได้ที่
สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย http://www.ctat.or.th เมนูรายชื่อสมาชิก
สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.tradelogistics.go.th เลือกเมนูค้นหา LSP- Logistics Service Provider
ฝ่ายโลจิสติกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbdlogistics.com/search.html หน้าค้นหาผู้ประกอบการ โลจิสติกส์
ติดต่อประกันภัย.. ตามเงื่อนไข Incoterm
สำหรับเงื่อนไขเทอมการค้า (Incoterm) CIF และ CIP นั้น ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเรื่องการประกันภัยระหว่าง การขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น ก่อนการขนส่งจึงต้องติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อจัดซื้อประกันภัยดังกล่าว
การประกันภัยสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตการคุ้มครองครอบคลุมถึงเรื่องการประกันความเสียหายแก่เรือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull) และทรัพย์สิน หรือการประกันภัยสินค้า (Cargo) ที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวมถึงยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศ ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย
ทั้งนี้ ผู้ซื้อประกันภัยสามารถเลือกเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามชุดเงื่อนไขการประกันภัยที่ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งของประเทศไทย (อ้างอิงใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกลุ่มผู้รับประกันภัยที่ใช้ ในอังกฤษ) โดยมีชุดเงื่อนไขความคุ้มครองที่นิยมเลือกใช้รวม 3 ชุด ซึ่งมีขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ ได้แก่ The Institute Cargo Clauses ‘A’ Clauses ‘B’ และ Clauses ‘C’ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการขอรับเงินประกันภัยได้ที่ www.oic.or.th/th/elearning/index2.php และสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่รับประกันวินาศภัยทางทะเลได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย www.thaigia.com/Member.html
“E-Customs” บริการใหม่.. ผ่านพิธีศุลกากรไทยสะดวกสบาย
ปัจจุบัน กรมศุลกากรไทยใช้กระบวนการผ่านพิธีการทางศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อ ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลด้านการส่งออกแบบไร้เอกสาร (paperless) พร้อมลงรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรยืนยันและตอบรับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ส่งออกยื่นผ่านระบบแล้ว ก็ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารผ่านพิธีการที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร
การผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การจัดทำใบขนสินค้าขาออก 2) การบรรจุสินค้าและการจัดทำใบกำกับการขนย้ายสินค้า 3) การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งออก 4) การตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย และ 5) การรับบรรทุกของส่งออก โดยสามารถศึกษาวิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพิ่มเติมได้ที่ www.cdscom.co.th/contents/public/paperlesscustoms/Customs/export.pdf
ทั้งนี้ วิธีการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกด้วยตนเอง 2) ผู้ส่งออกมอบหมายให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูลแทน 3) ผู้ส่งออกใช้บริการที่เคานท์เตอร์กรมศุลกากรในการส่งข้อมูล และ 4) ผู้ส่งออกยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมแนบรายละเอียดข้อมูลใบขนสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่าน/ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งของออก โดยทั่วไปผู้ส่งออกนิยมให้ "ตัวแทนผู้ออกของ" หรือ Custom Broker ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรแทนตนเอง โดยสามารถค้นหารายชื่อตัวแทนผู้ออกของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย www.eca.or.th
นอกจากนี้ บริษัทชิปปิ้งบางรายอาจมีสถานะเป็น Customs Broker ด้วย ผู้ส่งออกจึงอาจพิจารณาเลือกใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนผู้ส่งออกได้ โดยบริษัทชิปปิ้งจะช่วยจัดทำ ใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรเพื่อให้มีการตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเมื่อสินค้าส่งถึงที่หมาย ณ ประเทศจีนแล้ว ก็ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีนเพื่อส่งมอบสินค้าที่นำเข้ามาให้แก่ผู้นำเข้าได้ด้วย
ผ่านพิธีการขาเข้า.. ช่วยแบ่งเบาด้วย “Customs Broker”
เมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีนแล้ว จำเป็นจะต้องมีตัวแทนผู้ออกของ (Customs Broker) ในจีนที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรจีน สำหรับทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีน เพื่อจัดการให้สินค้าได้รับอนุญาตตรวจปล่อยผ่านเข้าอาณาเขตของประเทศจีนจากศุลกากรจีนก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ (ผู้ซื้อ) ได้ในลำดับต่อไป
การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าประเทศจีนนั้น อาจพิจารณาใช้บริการของบริษัท Customs Broker ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นจีน หรือบริษัทจีนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ฝั่งไทย ทั้งนี้ หากคู่ค้าจีนของผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าสินค้าในจีนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจสอบถามคู่ค้าจีนถึงรายชื่อบริษัท Customs Broker ในจีนที่รับดำเนินพิธีการทางศุลกากรจีนได้เช่นกัน
หลังส่งสินค้าออกจากไทย.. อย่าลืมไปขอคืนภาษีอากร
ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทย กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคืนภาษี/อากรบางประเภทได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อมาจากในไทย/สินค้าที่ผลิตหรือใช้วัตถุดิบในไทย และภาษี/อากรนำเข้าสำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากได้ดำเนินการส่งสินค้าออกจากไทยไปจุดหมายปลายทางที่จีนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออกอย่าลืมดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีอากรดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
หน่วยงานที่รับผิดชอบ    กรมสรรพากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี    สินค้าหรือวัตถุดิบที่หาซื้อจากในไทย โดยราคาที่ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
วีธีการยื่นขอคืนภาษี    ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชําระภาษีและขอคืนภาษีมูลค่า รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกํากับภาษีที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถขอคืนได้ในรูปแบบเครดิตภาษี (นำส่วนต่างหักลบจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระในเดือนถัดไป) หรือคืนในรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เมนู "ความรู้เรื่องภาษี" เมนูย่อยด้านซ้าย "ผู้ประกอบการส่งออก"
2. การขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
ตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขอคืนค่าภาระภาษีอากรต่างๆ ได้ อาทิ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า โดยเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออกแล้ว ก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป
หน่วยงานที่รับผิดชอบ    กรมศุลกากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี    1. วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน 
3. วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
วีธีการยื่นขอคืนภาษี    ผู้นำของเข้าจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (แบบ กศก.29) ต่อส่วนคืน และชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งต้องแจ้งความจำนงต่อกรมศุลกากร และยื่นเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและเงื่อนไขการยื่นขอคืนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร www.customs.go.th เมนูด้านซ้าย "สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร" หัวข้อ "การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ"

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดเรื่อง How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!! ทั้ง 4 ตอน จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจมีคำถามเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งมีความยินดีและพร้อมให้บริการข้อมูลทุกท่านเสมอ

: ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
   664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
    โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
    Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th 


บทความ
ทั่วไป