กฎระเบียบการค้าที่ต่างชาติควรรู้ การจ้างแรงงานในจีน

สัญญาจ้างงาน
สัญญาจ้างงาน หรือ เรียกว่าหนังสือว่าจ้าง หรือ ข้อตกลงว่าจ้างงาน หมายถึง  ข้อตกลงในการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างผู้ใช้แรงงานกับกิจการ องค์กร หรือหน่วยงานผู้ว่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งมีการกำหนดความรับผิดชอบ สิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน ตามข้อตกลงนี้ผู้ใช้แรงงานจะเข้าร่วมกับหน่วยงานหนึ่ง รับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบและทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคารพกฎระเบียบ ตลอดจนระบบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานนั้น ส่วนกิจการ องค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มองค์กรผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ใช้แรงงานตามปริมาณและคุณภาพของงานที่ผู้ใช้แรงงานได้ทำไป อีกทั้งยังต้องเสนอเงื่อนไขต่าง ๆสำหรับแรงงาน ต้องประกันสิทธิและประโยชน์ด้านต่างๆ แก่พนักงานของหน่วยงานนั้น ๆ
 ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือตามข้อตกลงร่วมระหว่างสองฝ่ายมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวดังนี้
1. สัญญาว่าจ้างงานเป็นรูปแบบทางกฎหมายชนิดหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ใช้รูปแบบของสัญญาในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ว่าจ้าง
2. คู่สัญญาของสัญญาว่าจ้างงาน ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นพลเมืองที่มีคุณสมบัติในด้านสิทธิและมีความสามารถในการทำงาน และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานผู้ว่าจ้างที่เป็นฝ่ายบริหาร
3. ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาในสัญญาว่าจ้างงานเป็นความสัมพันธ์แบบระบบบังคับบัญชาในด้านหน้าที่การงาน ผู้ใช้แรงงานที่เป็นคู่สัญญาเมื่อได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างงานแล้ว จะเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานผู้ว่าจ้างที่เป็นคู่สัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะสั่งให้ผู้ใช้แรงงานทำงานที่อยู่ในขอบข่ายความสามารถของผู้ใช้แรงงานให้สำเร็จตามที่สัญญากำหนด
4. สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาในสัญญาว่าจ้างงานต้องเป็นลักษณะร่วมกัน หมายถึง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นผู้มีสิทธิในแรงงาน และขณะเดียวกันก็ล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ต่อแรงงานด้วย ผู้ใช้แรงงานมีภาระหน้าที่ในการทำงานให้สำเร็จ เคารพกฎระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ หน่วยงานที่ว่าจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้แรงงานตามจำนวนและคุณภาพที่ผู้ใช้แรงงานได้ลงแรงไป
5. การลงนามในสัญญาว่าจ้างงาน การเปลี่ยนแปลง การสิ้นสุด และการไล่ออก จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมายแรงงานของประเทศจีน
องค์ประกอบของสัญญาจ้างแรงงาน
1.    ระยะเวลาของสัญญาจ้างงาน
2.    เนื้อหาของงาน
3.    การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน
4.    ค่าตอบแทนของแรงงาน
5.    กฎระเบียบในการทำงาน
6.    เงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน
7.    ความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำผิดสัญญาจ้างงาน
รายละเอียดสัญญาจ้างแรงงาน
ตามข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สัญญาจ้างงานจะต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. มีระยะเวลาของสัญญาจ้างงาน ระยะเวลาสัญญาจ้างมี 3 ลักษณะคือ สัญญาที่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน สัญญาที่ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน และสัญญาที่ถือเอาเวลาที่งานสำเร็จเป็นจุดสิ้นสุด ถ้าหากเป็นสัญญาจ้างงานที่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ควรจะกำหนดเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
2. ระบุเนื้อหาของงาน หมายถึง หน่วยงานผู้ว่าจ้างกำหนดให้ผู้ใช้แรงงานทำงานอะไร เป็นเนื้อหาสำคัญในสัญญาจ้างงานที่ผู้ใช้แรงงานยอมรับในว่าเป็นหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ ซึ่งส่วนนี้จะประกอบไปด้วย การระบุตำแหน่งในหน่วยงานที่ผู้ใช้แรงงานทำงาน ลักษณะของงาน ขอบข่ายของงาน รวมถึง ภาระหน้าที่ในการผลิตงานที่จะต้องบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ
3. การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน หมายถึง ในสัญญาจ้างงาน หน่วยงานผู้ว่าจ้างจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการทำงานและการผลิต รวมถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ใช้แรงงาน
4. ค่าตอบแทน หมายถึง หน่วยงานผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ใช้แรงงานในรูปของเงิน ตามตำแหน่งหน้าที่ ความสามารถ รวมถึงปริมาณและคุณภาพของงาน ค่าตอบแทนจะต้องระบุ จำนวนเงิน วันและสถานที่ที่จ่ายค่าตอบแทน รวมถึงประกันสังคมด้านอื่น ๆ มาตรฐานของค่าตอบแทนห้ามต่ำกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ และต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาหมู่
5. กฎระเบียบในการทำงาน หมายถึง กฎข้อบังคับที่ผู้ใช้แรงงานต้องเคารพปฏิบัติเมื่ออยู่ระหว่างการทำงาน ประกอบด้วย กฎหมายและกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร กฎที่ตั้งขึ้นภายในหน่วยงาน เพื่อเป็นเงื่อนไขด้านระเบียบให้ผู้ใช้แรงงานแต่ละบุคคลปฏิบัติตาม เช่น ระบบการเข้า-ออกงาน ระบบการทำงาน กฎระเบียบของแต่ละตำแหน่ง เงื่อนไขในการให้รางวัลและบทลงโทษ
6. เงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน หมายถึง ความต้องการสิ้นสุดความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นเหตุผลตามความเป็นจริงที่ทำให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลงที่ระบุไว้ในสัญญา โดยทั่วไปจะหมายถึงเงื่อนไขที่นอกเหนือจากที่กฎหมาย กฎระเบียบของฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ เป็นเงื่อนไขที่ผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ร่วมกันกำหนดข้อตกลงขึ้นสำหรับการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็นสัญญาจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรกำหนดเงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน
7. ความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำผิดสัญญาจ้างงาน หมายถึง ภายในระหว่างสัญญาจ้างงาน คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความตั้งใจหรือหรือทำผิดสัญญาด้วยความประมาท จนทำให้สัญญาจ้างงานไม่อาจดำเนินต่อไปได้ตามปกติ เมื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจึงควรจะต้องรับภาระซึ่งเป็นผลทางกฎหมายที่เกิดตามมา ฝ่ายที่ทำผิดสัญญา ควรจะต้องรับภาระความรับผิดชอบที่เกิดจากการทำกระทำผิดสัญญาตามที่กฎหมายหรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหารกำหนด การกำหนดความรับผิดชอบเมื่อกระทำผิดสัญญา ควรจะสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎหมาย คือ ยุติธรรมและมีเหตุผล
ระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างแรงงาน
ระยะเวลาทดลองงาน หมายถึง ช่วงเวลาที่จำกัดซึ่งหน่วยงานผู้ว่าจ้างใช้ทดสอบพนักงานระบบสัญญาจ้างงานที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ ในด้านต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานของประเทศจีน ในสัญญาจ้างงานสามารถมีการกำหนดระยะเวลาทดลองงานได้แตกต่างกันไปตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละกิจการ ระยะเวลาการทดลองจะไม่เกิน 6 เดือน
การกำหนดระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างงาน ด้านหนึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานผู้ว่าจ้าง เป็นการให้เวลาระยะหนึ่งแก่กิจการในการทดสอบพนักงานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในการรับเข้าทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายโดยไม่จำเป็นของหน่วยง่านผู้ว่าจ้าง อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานใหม่ เพื่อให้มีเวลาในการทดสอบและทำความเข้าใจเนื้องาน เงื่อนไขในการทำงาน ผลตอบแทน ว่าถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงานหรือไม่ ภายในระยะเวลาการทดลองงาน หากคู่สัญญาพบว่าสภาพความเป็นจริงไม่ตรงกับที่ฝ่ายตรงข้ามได้ชี้แจงไว้ ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อภายในระยะเวลาทดลองงาน
ขั้นตอนของการทำสัญญาจ้างงาน
ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดการสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงานควรมีการทำสัญญาจ้างงานโดยการเขียนสัญญาจ้างงานมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
1. รายงานตัวโดยสมัครใจพร้อมยื่นเอกสารที่เป็นหลักฐานต่าง ๆ สำหรับการรับพนักงานโดยจัดสอบเป็นกลุ่ม ผู้เข้าสอบจะต้องยื่นหลักฐาน คือ ทะเบียนสำมะโนครัว วุฒิบัตรการศึกษาหรือหลักฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันสถานะของพนักงาน และเพื่อป้องกันคนจากต่างถิ่นเข้ามาร่วมสอบ หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างมีความจำเป็นแน่ชัดว่าต้องการคนงานจากชนบท นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายแล้ว ยังต้องแจ้งให้รัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง หรือมหานครให้พิจารณาอนุมัติด้วย
2. เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างจะรับคนเข้าทำงานหรือใช้พนักงานแต่ละคน ควรจะมีการทดสอบพวกเขาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านคุณธรรม สติปัญญา และร่างกาย ส่วนเนื้อหาและมาตรฐานการสอบ สามารถเน้นหนักด้านใดก็ได้ตามความต้องการเนื้องานและรูปแบบการผลิต
3. กรอกแบบฟอร์มอนุมัติพนักงานใหม่ และยื่นแก่รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองหรือจังหวัดให้อนุมัติ อีกทั้งยังต้องมีหนังสือแจ้งการรับเข้าทำงานซึ่งอนุมัติโดยหน่วยงานของรัฐแจ้งแก่พนักงานใหม่ด้วย
4. ผู้ผ่านการรับเข้าทำงานยื่นเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ เมื่อผู้ผ่านการรับเข้างานไปรายงานตัวต่อหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ควรยื่นเอกสารรายงานตัว เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างตรวจสอบแล้ว จึงอนุญาตให้รายงานตัว โดยหน่วยงานที่รับพนักงานเข้าใหม่จะออกหนังสือแจ้งการยอมรับเข้าทำงานให้แก่พนักงาน
5. หน่วยงานผู้ว่าจ้างแนะนำตัวอย่างเนื้อหาและเงื่อนไขของสัญญาจ้างงานแก่ผู้ที่ผ่านการรับเข้าทำงาน ก่อนเขียนสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างควรแนะนำตัวอย่างเนื้อหารายละเอียดของสัญญาจ้างงานอย่างละเอียดและตามความเป็นจริง รวมถึงกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งในการเซ็นสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างยังมีหน้าที่ตอบคำถามที่พนักงานที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ถาม รวมถึงรับฟังความเห็นและข้อเรียกร้องด้วย
6. สองฝ่ายปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกันในการเขียนสัญญา หน่วยงานผู้ว่าจ้างกับพนักงานที่รับเข้ามาใหม่จะทำสัญญาจ้างงานโดยผ่านการปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน ได้ข้อตกลงและผ่านการเซ็นชื่อประทับตราของทั้งสองฝ่าย สัญญาจ้างงานจึงถือว่าสำเร็จ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายสามารถกำหนดระยะเวลาทดลองงานในสัญญาจ้างงานได้ภายในระยะเวลาทดลองงาน หน่วยงานผู้ว่าจ้างสามารถทดสอบพนักงานในเรื่องคุณธรรม สติปัญญา และร่างกายได้อีกขั้น เพื่อให้เข้าใจมาตรฐานและความสามารถในการทำงานของพวกเขาว่ามีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่พวกเขารับผิดชอบหรือไม่ ถ้าพบว่าพนักงานใหม่ไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขในการรับเข้าทำงานหรืองานที่รับภาระไม่เหมาะกับเขา หน่วยงานผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้
7. สหภาพแรงงานดำเนินการตรวจตราในสิ่งที่จำเป็น กฎหมายสหภาพแรงงานของจีนกำหนดไว้ว่า เมื่อฝ่ายบริหารของกิจการรับคนงานหรือพนักงานเข้ามาใหม่ ควรแจ้งแก่สหภาพแรงงานชั้นต้นทราบ ถ้าสหภาพแรงงานชั้นต้นพบว่า การรับคนงานหรือพนักงานนั้นกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐ มีสิทธิเสนอความเห็นได้ภายในสามวัน การทำเช่นนี้ สามารถป้องกันการที่หน่วยงานไม่ใส่ใจกับความต้องการในเงื่อนไขการผลิต ใช้พนักงานไม่ถูกกับงาน ทำให้กิจการได้รับความเสียหายโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการปกป้องสิทธิตามกฎหมายของคนงานหรือพนักงานที่เข้ามาใหม่ด้วย
8. ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานผู้ว่าจ้างบางประเภท ถ้าจะรับคนงานเข้ามาทำงานเฉพาะช่วงเวลา ควรทำเรื่องแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐที่ดูแลกิจการต่างๆและหน่วยงานด้านแรงงานในท้องที่นั้น ๆให้มีการลงบันทึก เช่น กิจการเหมืองแร่ ก่อสร้าง งานจราจร งานสร้างทางรถไฟ ไฟฟ้าและไปรษณีย์ที่เป็นของเอกชน เป็นต้น ถ้าหน่วยงานผู้ว่าจ้างรับคนงานจากชนบทที่รับจ้างเป็นงาน ๆ หรือจ้างคนงานจากชนบทในระบบสัญญาแรงงาน หลังจากที่ได้เซ็นสัญญาจ้างงานโดยไปเซ็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นระดับจังหวัดหรืออำเภอพร้อมกับคนงานแล้ว ควรจะต้องทำเรื่องแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐที่ดูแลกิจการและหน่วยงานที่ดูแลด้านแรงงานในท้องที่ให้ทำการลงบันทึก เพื่อให้ระบบสัญญาจ้างงานของจีนสมบูรณ์ขึ้น เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างเซ็นสัญญากับพนักงานที่รับเข้ามาใหม่ ควรระวังปัญหาต่อไปนี้
1.    คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรประเมินตนเองว่าตรงกับเงื่อนไขในการรับพนักงานหรือไม่
2.    การเขียนสัญญาจ้างงานจะต้องถูกต้องตามกฎหมายและนโยบายของประเทศ และต้องอิงกับสภาพความเป็นจริง
3.    เนื้อหาของสัญญาจะเขียนอย่างกระชับหรือละเอียดต้องดูตามความเหมาะสม สำหรับเนื้อหาที่เป็นกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศ สามารถเขียนอย่างกระชับได้ แต่หากส่วนที่กฎหมายไม่มีการกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ควรเขียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
4.    ภาษาที่ใช้ในสัญญาจะต้องถูกตามมาตรฐาน เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการที่ผู้ใช้สัญญาจะเกิดการเข้าใจผิดหรือมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
5.    ควรกำหนดความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจน ความรับผิดชอบไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสัญญา แต่ยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินข้อพิพาทด้านแรงงานด้วย
6.    วันที่เขียนสัญญาและวันที่สัญญามีผลบังคับใช้จะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน
หลักการสำหรับการเขียนสัญญาจ้างงาน
กฎหมายแรงงานกำหนดว่า"การเซ็นสัญญาและเปลี่ยนแปลงสัญญา ควรเคารพหลักการเรื่องความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน ห้ามขัดกับข้อกำหนดของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร" กล่าวให้ชัดเจน คือ การเขียนสัญญาจ้างงานต้องเคารพหลักการดังต่อไปนี้
1. หลักการถูกต้องตามกฎหมาย คือ การเขียนสัญญาจะต้องเคารพข้อกำหนดของกฎหมายและนโยบายของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) องค์ประกอบหลักของสัญญาจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นกิจการ องค์กร หน่วยงานของรัฐ สมาคม หรือกิจการส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนผู้ใช้แรงงานจะต้องเป็นพลเมืองที่มีสิทธิและมีความสามารถทางด้านแรงงาน 2) เนื้อหาของสัญญาจะต้องถูกกฎหมาย รายละเอียดและรูปแบบจะต้องไม่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมายและนโยบายของประเทศ ห้ามทำลายผลประโยชน์ของชาติและของสาธารณะ 3) รูปแบบและขั้นตอนการเขียนสัญญาต้องถูกต้องตามกฎหมาย
2. หลักการเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน เท่าเทียม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเวลาเซ็นสัญญาจะมีฐานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน จะไม่มีความสัมพันธ์แบบทาส ความสัมพันธ์แบบที่ต้องคล้อยตาม หน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานมีฐานะเท่าเทียมกันในการเขียนสัญญา สมัครใจ หมายถึง การที่สัญญาจ้างงานมาจากความเต็มใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายใดก็ไม่อาจใช้ความต้องการของตนเองมาบีบบังคับฝ่ายตรงข้ามได้ และไม่อนุญาตให้มีมือที่สามมาแทรกแซงในการเขียนสัญญา ส่วนการปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกัน หมายถึง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแสดงเจตจำนงในรายละเอียดแต่ละข้อบนพื้นฐานความต้องการของตนเอง และผ่านการปรึกษาโดยใช้ฐานะที่เท่าเทียม จนสามารถหาข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันได้ สัญญาจึงจะถือว่าสำเร็จ หากสัญญาจ้างงานใด ๆ ขัดกับหลักการแห่งความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาร่วมจนเป็นพ้องต้องกันแล้ว ไม่เพียงแต่จะมีผลเป็นโมฆะ แต่ยังควรรับภาระรับผิดชอบที่แน่นอนทางกฎหมายด้วย
ข้อควรระมัดระวังในการทำสัญญาจ้างงาน
ตามที่กฎหมายแรงงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดเอาไว้ การเซ็นสัญญาจ้างงานควรระมัดระวังเรื่องต่อไปนี้
1. ห้ามฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อกำหนดของฝ่ายบริหาร เท่าเทียมและสมัครใจ ห้ามใช้วิธีการบังคับ หลอกลวง หรือคุกคาม รายละเอียดของสัญญาควรเป็นความเห็นที่ทั้งสองฝ่ายปรึกษาร่วมจนเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงค่อยเซ็นสัญญา
2. ทั้งสองฝ่ายจะต้องตรวจสอบรายละเอียดแต่ละเรื่องอย่างจริงจังทั้งในเรื่อง สิทธิ หน้าที่ รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องให้ผ่านการเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายและต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดในการเซ็นสัญญาจ้างงาน
3. สัญญาจ้างงานควรเซ็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องระมัดระวังเรื่องเนื้อหาของสัญญา เพราะเนื้อหาเป็รหลักฐานสำคัญในการตัดสินข้อพิพาทด้านแรงงาน สัญญาจ้างงานควรมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ ระยะเวลาของสัญญา เนื้อหาของงาน การคุ้มครองแรงงานและเงื่อนไขในการทำงาน ค่าตอบแทน วินัยในการทำงาน เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาสิ้นสุด รวมถึงความรับผิดชอบที่เกิดจากการผิดสัญญา
4. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร และก็ยังต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การเซ็นสัญญาจ้างงานที่ไม่อิงกับกฎหมาย และกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร อาจก่อให้เกิดเป็นสัญญาโมฆะขึ้น
5. เนื้อหาของสัญญาจ้างงานจะเขียนอย่างกระชับหรือเขียนอย่างละเอียด การเซ็นสัญญาจ้างงานจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หน่วยงาน และเนื้องาน ถ้าสัญญาที่เขียนอย่างกระชับ จะง่ายในการจดจำ สะดวกในการเซ็น มีความยืดหยุ่นในการปรึกษาตกลงกัน ควรเขียนให้พอเหมาะ
6. ภาษาที่ใช้ในกฎหมาย ต้องแสดงเจตจำนงให้ชัดเจน เข้าใจง่าย
การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน
ผู้ใช้แรงงานบอกเลิกสัญญาจ้างงาน หมายถึง สัญญาจ้างงานที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา แต่ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้เรียกร้องให้ทั้งหน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานหยุดปฏิบัติตามสัญญาก่อนกำหนด และจะสิ้นสุดความสัมพันธ์ด้านแรงงานที่ได้เซ็นในสัญญาจ้างงานร่วมกัน ตามที่กฎหมายแรงงานของจีนกำหนด ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้ในสองกรณี
1.    ผู้ใช้แรงงานเสนอยกเลิกสัญญาจ้างงานจะต้องทำหนังสือแจ้งถึงหน่วยงานผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วัน ใน
2.    ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานกับหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ทุกเมื่อ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1. บอกยกเลิกสัญญาจ้างงานภายในระยะเวลาทดลองงาน หากผู้ใช้แรงงานพบว่า สภาพความเป็นจริงของหน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ตรงตามที่แนะนำไว้กับเมื่อตอนทำสัญญา ผู้ใช้แรงงานสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างงานเมื่อใดก็ได้
2. หน่วยงานผู้ว่าจ้างบังคับให้ทำงานโดยใช้ความรุนแรง คุกคาม หรือใช้วิธีจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลโดยผิดกฎหมาย โดยผู้ใช้แรงงานมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้ทุกเมื่อ และยังสามารถฟ้องร้องหาเรียกหาความรับผิดชอบจากผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงโดยผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานกฎข้อบังคับของประเทศหรือตามที่สัญญาจ้างงานกำหนดในการจัดการสภาพการทำงาน อันจะทำให้ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานมีสภาพเลวร้าย ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของพนักงานอย่างร้ายแรง รวมทั้งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานด้านแรงงานหรือสาธารณสุข ผู้ใช้แรงงานก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้
เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างแรงงาน
เงื่อนไขที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างงานได้ คือ กิจการเปลี่ยนการผลิต มีการปรับภาระหน้าที่ในการผลิต สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เกิดจากตัวผู้ใช้แรงงาน ยุบหรือแยกกิจการ หากการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ มีผลทำให้สัญญาจ้างงานฉบับเก่าไม่สามารถใช้ปฏิบัติต่อได้ หน่วยงานที่เกิดขึ้นทีหลังสามารถอ้างอิงกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจ้างงาน โดยเคารพหลักความเท่าเทียม สมัครใจ และปรึกษาหารือร่วมกับผู้ใช้แรงงานของหน่วยงานผู้ว่าจ้างเดิม กิจการสามารถยื่นข้อเสนอแก่ผู้ใช้แรงงานในการเปลี่ยนแปลงสัญญา และอธิบายถึงเหตุผลและเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงใช้ชัดเจน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในขั้นตอนนี้ การปรับเปลี่ยนสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะต้องไม่ขัดกับหลักกฎหมายและข้อกำหนดของฝ่ายบริหาร กิจการควรจะกำหนดเงินเดือน รางวัล ประกันและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
สัญญาจ้างแรงงานที่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างงานที่ผิดกฎหมาย หรือกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร รวมถึง สัญญาจ้างงานที่เขียนขึ้นด้วยการล่อหลอก คุกคามถือเป็นโมฆะ สัญญาที่เป็นโมฆะ ให้ถือว่าไม่มีผลผูกพันตั้งแต่เขียนสัญญา สัญญาจ้างงานจะเป็นโมฆะได้โดยผ่านการยอมรับจากคณะอนุญาโตตุลาการแผนกคดีพิพาทด้านแรงงานหรือศาลประชาชน
การเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานในระหว่างสัญญาจ้างงานยังไม่สิ้นสุด
ผู้ว่าจ้างสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานในระหว่างสัญญาจ้างงานได้ในสองกรณี ตามประกาศของสำนักงานบริหารของกระทรวงแรงงาน(เดิม) ปี 1996 ฉบับที่ 100 เรื่อง “หนังสือตอบกลับเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับการเกิดกรณีพิพาทด้านแรงงานระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ว่าจ้างอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตำแหน่งงาน” ดังที่กำหนดต่อไปนี้ ผู้ว่าจ้างสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของผู้ใช้แรงงานได้ เมื่อ
1. หลังจากทำสัญญาแล้ว หากสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยไม่ได้เกิดจากตัวผู้ใช้แรงงานเอง ควรผ่านความเห็นชอบจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากตกลงกันไม่ได้ ก็สามารถบอกยกเลิกสัญญาจ้างงานได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย
2. ถ้าเนื่องจากผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรับผิดชอบงานให้สำเร็จได้ ผู้ว่าจ้าง สามารถใช้สิทธิของตนตัดสินเปลี่ยนตำแหน่งให้ผู้ใช้แรงงานได้
การทำสัญญาจ้างงานซ้อน
ประกาศกระทรวงแรงงาน(เดิม) ปี 1996 ฉบับที่ 354 เรื่อง “แจ้งให้ทราบถึงปัญหาบางประการเกี่ยวกับการปฏิบัติใช้ระบบสัญญาจ้างงาน” กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างควรตรวจสอบหลักฐานการสิ้นสุดสัญญาจ้างงานของพนักงานที่เพิ่งรับเข้ามา รวมถึงหลักฐานอื่นๆที่แสดงว่า พนักงานคนนั้นๆไม่มีความสัมพันธ์ด้านแรงงานกับหน่วยงานใดๆ จึงจะสามารถเซ็นสัญญาจ้างงานได้ หน่วยงานผู้ว่าจ้างควรปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการรับผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ยุติความสัมพันธ์ด้านแรงงานกับหน่วยงานอื่นเข้ามา จนเกิดเป็นการรับภาระหน้าที่ทับซ้อน
สิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดว่า พลเมืองชาวจีนมีสิทธิและหน้าที่ต่อแรงงาน พลเมืองคนหนึ่งๆ มีทั้งสิทธิต่อแรงงานและขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ต่อแรงงานด้วย กฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า "ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิโดยเท่าเทียมในการมีงานทำและเลือกอาชีพ มีสิทธิในการรับค่าจ้างจากการทำงาน สิทธิในการลาหยุดพัก มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน สิทธิในการได้รับการอบรมทักษะในอาชีพการงาน สิทธิในการได้รับประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สิทธิในการฟ้องร้องให้มีการจัดการข้อพิพาทด้านแรงงาน รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้"
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิโดยเท่าเทียมในการมีงานทำ
สิทธิแรงงาน หรือเรียกว่า สิทธิในการมีงานทำ หมายถึง พลเมืองที่มีความสามารถในการทำงานมีสิทธิที่จะมีงานทำ แรงงานคือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเป็นที่มาของทรัพย์สินทางวัตถุและทรัพย์ทางจิตใจทั้งหมด ถือเป็นสิทธิที่พลเมืองที่มีความสามารถในการทำงานเข้าร่วมการใช้แรงงานในสังคมและเป็นหลักประกันอย่างแท้จริงว่าเขาจะได้รับผลตอบแทนตามแรงงานที่ทำไป
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการเลือกอาชีพ
สิทธิในการเลือกอาชีพของผู้ใช้แรงงานหมายถึง ผู้ใช้แรงงานเลือกงานตามความปรารถนาของตน เหมาะสมตามความสามารถและอาชีพที่ตนชอบ การที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกอาชีพ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานในการแสดงความสามารถของตนเอง และเป็นการส่งเสริมให้สังคมสามารถพัฒนาพลังการผลิต ผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการมีงานทำ มีสิทธิในการจัดสรรแรงงานของตนเอง สามารถอาศัยคุณสมบัติส่วนตัว ความปรารถนาและกลไกราคาของระบบตลาดเลือกหน่วยงานผู้ว่าจ้างได้ สิทธิในการเลือกอาชีพจึงแสดงให้เห็นถึงสิทธิในแรงงานของตัวผู้ใช้แรงงาน และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมด้วย
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการได้รับค่าจ้าง
สิทธิในการได้รับค่าจ้างเป็นสิทธิสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นพลเมือง รัฐธรรมนูญของจีนไม่เพียงแต่กำหนดให้พลเมืองมีสิทธิในแรงงาน อีกทั้งยังให้สิทธิในแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานในการสร้างทรัพย์สินทางวัตถุและทรัพย์สินนั้นจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย หน่วยงานผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้แรงงานให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการลาหยุดพัก
รัฐธรรมนูญของจีนมีการกำหนดเวลาทำงานและระบบการลาของพนักงาน กฎหมายแรงงานของจีนกำหนดให้เวลาพักผ่อนประกอบด้วย การพักระหว่างช่วงเวลาทำงาน เวลาพักผ่อนหลังเลิกงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดเทศกาลตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการลาพักร้อน ลาเยี่ยมญาติ ลางานแต่งงานศพ ลากิจ ลาคลอด ลาป่วย
ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน
การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน คือ การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพทางร่างกายแก่ผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการทำงานนั้นจะมีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป หากไม่หานโยบายป้องกัน ก็อาจทำให้ได้รับอุบัติเหตุจากงานหรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บจากการประกอบอาชีพได้ อันจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน
สิทธิในการได้รับการอบรมทักษะในอาชีพการงาน
การฝึกอบรมทักษะในอาชีพการงาน หมายถึง บุคคลที่จะเตรียมเข้าทำงานหรือพนักงานที่มีงานทำแล้ว ไปดำเนินการศึกษาและอบรมความรู้ด้านทักษะวิชาชีพและฝึกฝนความสามารถจริงในการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อ อบรมทักษะด้านอาชีพขั้นพื้นฐานหรือเพื่อยกระดับทักษะความสามารถทางวิชาชีพของตน รัฐธรรมนูญของจีนกำหนดไว้ว่า พลเมืองมีสิทธิและหน้าที่ในการได้รับการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย การได้รับการศึกษาทั่วไป และรวมถึงการศึกษาด้านวิชาชีพ พลเมืองมีสิทธิในแรงงาน หากจะใช้สิทธินี้ก็ไม่สามารถหนีพ้นการที่ตนเองจะต้องมีความสามารถในอาชีพ ในยุคปัจจุบันที่ทักษะความสามารถทางอาชีพที่นับวันจะยิ่งต้องพึ่งพาการศึกษาอบรมมากขึ้นเรื่อย ๆ หากพลเมืองไม่มีสิทธิในการรับการอบรมด้านอาชีพ สิทธิในการมีงานทำก็ยากจะเป็นจริงได้
สิทธิในการได้รับประกันสังคมและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
ประกันสังคม คือ ข้อตกลงที่รัฐบาลหรือหน่วยงานผู้ว่าจ้างทำตามที่กฎหมายหรือตามที่สัญญากำหนด โดยเสนอระบบประกันสังคมในรูปของความช่วยเหลือทางวัตถุเพื่อเป็นหลักประกันด้านความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แก่ผู้ใช้แรงงานที่มีความสัมพันธ์ทางแรงงานตามสัญญา มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน แก้ปัญหาความกังวลเรื่องภาระข้างหลังของผู้ใช้แรงงาน กระตุ้นความกระตือรือล้นในการผลิต ประกันสังคมของจีนครอบคลุมถึง การคลอดบุตร บำนาญ การเจ็บป่วย บาดเจ็บทุพพลภาพ การเสียชีวิตรวมถึงเลี้ยงดูผู้ที่เป็นทายาทด้วย
สิทธิในการฟ้องร้องให้มีการจัดการข้อพิพาทด้านแรงงาน
ข้อพิพาทด้านแรงงานหมายถึง คู่สัญญาของความสัมพันธ์ทางแรงงาน เกิดข้อพิพาทจากการปฏิบัติใช้ข้อกำหนดในกฎหมายแรงงานหรือสัญญาจ้างงานและสัญญาจ้างงานแบบรวมหมู่ คู่สัญญาเป็นตัวหลักของความสัมพันธ์ทางแรงงาน แต่ละฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเกิดความไม่ลงรอยทางความคิดจึงยากจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานเกิดกรณีพิพาท ผู้ใช้แรงงานสามารถยื่นฟ้องแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตัดสินข้อพิพาท คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านแรงงานเป็นกลุ่มตัวแทนที่มาจากหน่วยงานผู้ว่าจ้าง สหภาพแรงงาน และตัวแทนพนักงาน ส่วนคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทแรงงานจะเป็นกลุ่มผู้แทนซึ่งมาจากตัวแทนจากฝ่ายบริหารด้านแรงงานของรัฐ สหภาพแรงงานที่มีตำแหน่งเท่ากัน และหน่วยงานผู้ว่าจ้าง การแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานควรปฏิบัติโดยยึดหลักถูกกฎหมาย ยุติธรรม และทันเวลาในการจัดการ สิทธิในการยื่นคำร้องให้จัดการข้อพิพาทเมื่อเกิดปัญหา ก็ถือเป็นการประกันสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมายให้แก่ผู้ใช้แรงงานด้วย
ระบบเวลาทำงานของของจีน
รัฐธรรมนูญของจีนกำหนดว่า รัฐบาลเป็นผู้กำหนดระบบเวลาทำงานของพนักงาน กฎหมายแรงงานมาตรา 36 กำหนดว่า รัฐบาลปฏิบัติใช้ระบบเวลาในการทำงาน โดยให้ผู้ใช้แรงงานทำงานในแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง เฉลี่ย 1 สัปดาห์ไม่เกิน 44 ชั่วโมง
วันหยุดพักผ่อน
นายจ้างต้องให้ลูกจ้างอยุดพักอย่างน้อย อาทิตย์ละ 1 วัน และจะต้องให้อยุดพักในวันนักขัตฤกษ์ดังต่อไปนี้ 1) วันปีใหม่ 2) วันตรุษจีน 3) วันแรงงาน 4) วันชาติ 5) วันอยุดอื่น ๆ ตามที่รัฐบาลประกาศ
การทำงานล่วงเวลา
หากนายจ้างมีความจำเป็น สามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานเกินว่า 1 ชั่วโมง สามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมง เดือนละไม่เกิน 36 ชั่วโมง โดยลูกจ้างจะต้องมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม
โดยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ดังต่อไปนี้ (อัตราต่อวัน)
1.    นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 150 ของเงินเดือน
2.    นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 200 ของเงินเดือน หากให้ลูกจ้างทำงานในวันอยุดโดยไม่มีวันอยุดชดเชยให้
3.    นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาเป็นเงินไม่ต่ำว่าร้อยละ 300 ของเงินเดือน หากให้ลูกจ้าทำงานในวันอยุดนักขัตฤกษ์
ลูกจ้างที่ทำงาน 1 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับวันอยุดประจำปีตามที่กฏหมายกำหนด
สวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ป่วยจากการประกอบอาชีพ
ในระหว่างการทำงานผู้ใช้แรงงานอาจได้รับอันตรายจากปัจจัยต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำงานได้ ผู้ใช้แรงงานจึงควรได้รับสวัสดิการในการรักษาโรคจากการประกอบอาชีพตามที่กฎหมายกำหนดและหน่วยงานผู้ว่าจ้างควรปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักประกันแก่แรงงานที่เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ ในกรณีพิเศษ 3 ข้อ และยังมีการกำหนดชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายรวมถึงสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับ ดังต่อไปนี้
1. ผู้ใช้แรงงานได้รับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ แต่หน่วยงานผู้ว่าจ้างไม่ได้เข้าร่วมระบบประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาลและหลักประกันด้านชีวิตให้ หน่วยงานผู้ว่าจ้างแห่งล่าสุดเป็นผู้รับผิดชอบ เว้นแต่หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างแห่งล่าสุดมีหลักฐานยืนยันว่า โรคจากการประกอบอาชีพนั้น ๆ เกิดจากการทำงานให้หน่วยงานอื่นก่อนหน้าก็ให้หน่วนงานก่อนหน้านั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ
2. แรงงานที่เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ เมื่อมีการเปลี่ยนงาน สวัสดิการที่พวกเขาได้รับตามกฎหมายก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3. หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างควบรวมกิจการ เลิกกิจการหรือล้มละลาย ควรจะดำเนินการตรวจร่างกายให้กับผู้ใช้แรงงานที่ทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอันจะทำให้การเกิดโรคจากการประกอบอาชีพ และควรจัดการกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจากการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเอาไว้
กฎเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง
1. รูปแบบการจ่ายค่าจ้าง กฎหมายกำหนดให้เป็นเงิน ไม่สามารถใช้สิ่งของหรือใบแทนหนึ้ในการจ่ายได้
2. ผู้รับค่าจ้าง จะต้องเป็นตัวผู้ใช้แรงงานเอง ตัวผู้ใช้แรงงานหากมีเหตุให้ไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเอง ก็สามารถไหว้วานให้ญาติหรือผู้อื่นมารับแทนได้ ไม่ว่ากิจการจะใช้รูปแบบการจ่ายเงินแบบใด ล้วนจะต้องออกใบสลิปเงินเดือนแสดงแก่ผู้ใช้แรงงานด้วย และจะต้องมีการเซ็นรับเป็นหลักฐานกำกับ
3. ระยะเวลาการจ่ายเงินเดือน อย่างน้อยออกเดือนละครั้ง ถ้ากิจการคิดค่าจ้างเป็นรายปี ควรแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ให้ชำระเมื่อถึงกำหนด และวันจ่ายเงินค่าจ้างจะต้องกำหนดชัดเจน ถ้าหากวันจ่ายค่าจ้างตรงกับวันหยุด วันเทศกาล ควรจ่ายในวันทำงานสุดท้ายก่อนหยุด หากกิจการมีพฤติกรรมจ่ายค่าจ้างเลยวันที่กำหนด ให้ถือว่าจ่ายค่าจ้างล่าช้า
4. จำนวนค่าจ้างที่จ่าย คือ เท่าที่ผู้ใช้แรงงานทำตามที่ตกลงในสัญญาจ้างงาน ในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานทำงานตามเวลาที่กฎหมายกำหนด กิจการควรจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน หากจ่ายเงินไม่ครบเต็มจำนวนแก่ผู้ใช้แรงงานโดยไม่มีเหตุอันควร ถือว่า โกงเงินเดือน การโกงเงินเดือนนอกจากกิจการจะต้องจ่ายส่วนที่หักไปคืนแล้ว ยังต้องชดเชยเงินแก่ผู้ใช้แรงงานตามที่กำหนดไว้ด้วย

แหล่งที่มา
ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุน กระทรวงพานิชย์ http://www.chineselawclinic.moc.go.th/ 
เว็บไซต์กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม http://www.mohrss.gov.cn/



บทความ
ทั่วไป

                     สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน
        664  ชั้น 3  ถนนสามเสน  แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร 10300 
          โทรศัพท์ : 02-628-5378 - 9 โทรสาร :02-628-5499 
          Website: www.th-cntrade.or.th    E-mail : support@th-cntrade.or.th